posttoday

เศรษฐกิจติดโควิด: แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 – 2564

26 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

สถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการ “เว้นระยะห่างทางกายภาพ” (Physical distancing) และการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เป็นเครื่องมือหลัก ที่เกือบทุกประเทศใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน ถือว่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรค ดังจะเห็นจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ และอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการข้างต้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทั่วโลก จากการพยากรณ์ล่าสุดโดย IMF คาดว่าในปี 2563 นี้ เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วจะหดตัวร้อยละ -6.5 และในประเทศกำลังพัฒนาจะหดตัวร้อยละ -2.4 โดยในประเทศกลุ่มอาเซียนหลักคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -1.7 ในกรณีประเทศไทยค่าพยากรณ์ล่าสุดที่ผมคำนวณไว้ (NIDA forecast) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ -6.8 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.5

ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาจากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนจากมาตรการปิดสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 จะหดตัวร้อยละ -1.6) การชะงักของการลงทุนภาคเอกชนจากภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 2563 จะหดตัวร้อยละ -13.9) การลดลงของการส่งออกสินค้าจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (คาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าจะหดตัวร้อยละ -9.6) และการท่องเที่ยวที่หายไปจากการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ และจากปัญหาการระบาดในต่างประเทศ (คาดว่า การส่งออกบริการจะหดตัวร้อยละ -46.6) ซึ่งในประเทศไทยบทบาทของภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกถือว่ามีสัดส่วนสูง เทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ เช่น อินโดนิเซีย พิลิปปินส์ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีขนาดการถดถอยในปี 2563 ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอาเซียนมาก

แม้ว่าปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์สถานการณ์ระบาดของโรคโควิดล่วงหน้าในอนาคต เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมการระบาดระยะสองหรือสามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงยังยากในการคาดเดาระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ใช้ในการักษา แต่จากการประเมินเบื้องต้นของผม โดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของนิด้า คาดว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นโดยคาดว่าจะมีอัตราการขย่ายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 ซึ่งจากรูปจะเห็นว่าเศรษฐกิจในปี 2564 น่าจะฟื้นตัวมาประมาณร้อยละ 2/3 ของที่หดตัวไป ขนาดการฟื้นตัวในปี 2564 ของไทยน่าจะดีกว่าในประเทศพัฒนาแล้วซึ่ง IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งจากทิศทางข้างต้น ทำให้คาดว่า หากไม่มีการระบาดระยะสองที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินในปี 2563 – 2564 น่าจะคงที่ ณ ระดับปัจจุบัน (ร้อยละ 0.50) ดังนั้นค่าเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 32.0 – 32.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ

เมื่อเปรียบเทียบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิดในปัจจุบันกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่าพยากรณ์ขนาดการถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2563 จากวิกฤตโควิดมีขนาดใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้งในครึ่งหลังของปี 2540 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 น่าจะเร็วกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จะไม่เร็วเหมือนในปี 2555 ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตน้ำท่วมในปลายปี 2554 โดยคาดว่า น่าจะมีรูปแบบการฟื้นตัวที่คล้ายกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552

จากการวิเคราะห์รายองค์ประกอบของ GDP ในปี 2564 บทบาทของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก ที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงในปี 2563 น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ ดังนั้นนโยบายภาครัฐในปี 2564 ควรมีการปรับจากนโยบายที่ช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชน เช่น มาตรการให้เงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” ซึ่งมุ่งเน้นการพยุงการบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 นี้ มามุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในระดับโลกดีขึ้น ไม่เกิดภาวะระบาดรอบสองที่รุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

เศรษฐกิจติดโควิด: แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 – 2564

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดทั้งในเชิงการแพทย์และผลต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่จำกัดและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้การประเมินผลกระทบทั้งจำนวนผู้ป่วย และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างชัดเจนทำได้โดยยาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผมจะมานำเสนอทิศทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลของนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อไปครับ

เศรษฐกิจติดโควิด: แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 – 2564