posttoday

รู้หรือไม่ กองทุน SSF Extra ไม่ใช่แฝดน้องของกองทุน SSF

14 เมษายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสินคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

เรื่องกองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเริ่มในปีนี้ สืบเนื่องจากการสิ้นอายุขัยของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) ที่คราวนี้ถึงคราวจริง ๆ ไปแล้วไปลับเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2562 หลังจากที่เคยได้รับการทำบุญต่ออายุโดยเปลี่ยนเงื่อนไขมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่ต่ออายุการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อกองทุน LTF อีกแล้ว ซึ่งก็ไม่มีใครตื่นตกใจเท่าไหร่ เพราะเป็นประเด็นที่พูดคุยกันมาหลายครั้งหลายครา โดยประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหลายก็รอลุ้นกองทุนน้องใหม่ที่จะเกิดมาแทนกองทุน LTF ว่าจะหน้าตาหล่อสวยแค่ไหน สุดท้าย เราก็ได้พบกับกองทุน SSF ที่คลอดออกมาในปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแทนที่กองทุน LTF

แต่ดูเหมือนว่ากองทุน SSF ตัวใหม่นี้ไม่ได้เป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับกองทุน LTF เลย เนื่องจากว่าทั้งหน้าตาและนิสัยแตกต่างกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่กองทุน SSF นั้นมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยการออม เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนทางการเงิน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ ซึ่งต่างจากกองทุน LTF ที่ตอนนั้นได้เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตลาดทุน ให้ประชาชนสนใจและสร้างความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาจูงใจ จึงทำให้นโยบายการลงทุนของกองทุน SSF ไม่ได้ระบุว่าจะต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% แบบกองทุน LTF แต่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท นอกจากนี้ ในส่วนของระยะเวลาในการถือครอง ก็ยืดยาวมากกว่ากองทุน LTF โดยกำหนดให้ต้องถือครองไม่ต่ำกว่า 10 ปีเต็ม จึงจะขายได้แบบไม่ผิดเงื่อนไขตามสิทธิประโยชน์ทางภาษี

มีเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้กองทุน SSF และกองทุน LTF พอจะนับญาติกันได้แบบลูกพี่ลูกน้องก็คือ ความเป็นกองทุนที่ประชาชนสามารถนำไปใช้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งถ้าพิจารณาในสายสัมพันธ์นี้ ก็จะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) อีกด้วย โดยกองทุน SSF ดูจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกองทุน RMF มากกว่า เพราะในเรื่องของวงเงินที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้นั้น ถึงแม้ทั้งคู่จะได้รับการขยายสัดส่วนเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ก็ถูกจำกัดว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุแล้ว ยอดเงินลงทุนรวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งทั้งกองทุน SSF และกองทุน RMF ก็ต้องถูกมัดรวมกัน โดยกองทุน SSF ยังถูกจำกัดไปอีกขั้นที่วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท

หลังจากที่กองทุน SSF ลืมตาดูโลก ก็มาพร้อมวันสิ้นอายุขัยเลย เพราะได้มีการระบุระยะเวลาของการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไว้ 5 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2567 ซึ่งเราก็คงต้องมาลุ้นชะตาชีวิตของกองทุน SSF กันอีกทีว่ากองทุนนี้จะอยู่หรือไป ณ ตอนนั้น แต่ชะตาหรือจะสู้ฟ้าลิขิต อยู่ดี ๆ ก็มีลูกรักคนใหม่คลอดออกมาพร้อมกันกับกองทุน SSF อย่างกับเป็นฝาแฝดกัน เพราะตกฟากพร้อมกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ที่หลาย ๆ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เริ่มเปิดขายทั้งกองทุน SSF และกองทุนน้องใหม่อย่างกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra Class หรือ SSF Extra) ออกมากันอย่างคับคั่ง

กองทุน SSF Extra ดูเผิน ๆ จากชื่อ อาจคิดว่าเป็นฝาแฝดของกองทุน SSF แต่แท้จริงแล้ว ถ้าตรวจ DNA จะพบว่า กองทุน SSF Extra ไม่ใช่แฝดน้องของกองทุน SSF แน่นอน เพราะกองทุน SSF Extra มีนิสัยเหมือนกับกองทุน LTF มากกว่า ด้วยนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% แต่วิญญาณของกองทุน LTF ที่ฟื้นกลับมาเกิดใหม่ในร่างของกองทุน SSF Extra นี้ ฟ้าลิขิตมาแล้วให้มีอายุขัยแค่ 3 เดือน เมษายนถึงมิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF Extra จะเป็นวงเงินพิเศษเพิ่มเติมในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีก 200,000 บาท แบบไม่ต้องไปรวมกับวงเงินอื่น ๆ แบบกองทุน SSF และไม่ต้องแม้กระทั่งไปนับรวมกับกองทุน SSF แต่มีเวลาจำกัดในการลงทุนได้แค่ 3 เดือนนี้เท่านั้น

กองทุน SSF Extra มาพร้อมกับภารกิจสำคัญในการพยุงตลาดหุ้นที่ถูกกำหนดให้ทำให้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งกองทุน SSF Extra คงต้องใส่ชุด PPE หน้ากากอนามัย และ Face Shield ป้องกันตัวเองเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้ติดไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นก่อนภารกิจจะเสร็จสิ้น ดูเป็นงานที่หนักหนาสาหัสอยู่ เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้หุ้นจำนวนมากมีราคาปรับตัวลดลง ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน รวมถึงกระทบเศรษฐกิจไปทั้งระบบ ดังนั้น แม้จะจูงใจให้ประชาชนมาลงทุนในกองทุน SSF Extra ด้วยสิทธิในการลดหย่อนภาษีแบบพิเศษสุด รวมถึงตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลงมาก จึงเป็นอีกแรงดึงดูดให้น่าเข้าไป แต่ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ต้องถือครองนานถึง 10 ปี ก็อาจทำให้ลังเลกันบ้าง ที่จะไปแช่เงินไว้ในระยะยาวภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนนี้ คนที่อายุเกิน 45 ปี ก็อาจจะมีการไปเปรียบเทียบกับกองทุน RMF ที่สามารถขายได้หมดตอนอายุ 55 ปี ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จำนวนเม็ดเงินหลักหมื่นล้านบาทที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเข้ามากอบกู้ตลาดหุ้นและบริษัทต่าง ๆ ในไตรมาสนี้ จะได้ตามคาดไว้หรือไม่

สำหรับประชาชนตาดำๆ ที่กำลังมองซ้ายมองขวาอยู่ ควรพิจารณาถึงสภาพคล่องของตนเองว่า สามารถลงทุนระยะยาวได้จำนวนเงินเท่าไหร่ และความไม่ต้องการใช้เงินจำนวนนั้นเป็นระยะยาวกี่ปี หากไม่ติดขัดปัญหาอุปสรรคใด ๆ หรือปกติทุกปีก็ลงทุนในกองทุนและผลิตภัณฑ์เพื่อลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เต็มวงเงินอยู่แล้ว การลงทุนในกองทุน SSF โดยเฉพาะ SSF Extra ที่จะตั้งอยู่ดับไปในช่วง 3 เดือนนี้ เป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจมาก ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะได้โอกาสในการซื้อของถูกที่ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลอยู่จากหลากหลาย บลจ. และมีของแถมพิเศษเป็นการประหยัดภาษีเพิ่มเติมด้วย อีกทั้งยังได้บุญ เพราะจะได้เป็นส่วนหนึ่งในเม็ดเงินที่มาพยุงตลาดหุ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป แต่เนื่องจากโปรโมชั่นมีสิ้นสุด จึงต้องรีบไปช้อปกันหน่อย แต่ควรมี Social Distancing ยืนนั่งเข้าคิวซื้อที่เคาน์เตอร์ห่าง ๆ กัน หรือขอให้พิจารณาการช้อปออนไลน์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และพึงระลึกไว้ก่อนกดยืนยันการซื้อว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง