posttoday

ไม่ว่าทางไหนก็เจ็บกับ COVID-19

07 เมษายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคลคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

เป็นช่วงที่ชีวิตมันมืดมิดจริง ๆ สำหรับวิกฤติโรคระบาด COVID-19 เรียกได้ว่า กระทบทุกหัวระแหง ทุกซอกทุกซอย รัฐบาลทุกรัฐบาลกับธนาคารกลางทุกแห่งบนโลกนี้ต่างทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดที่มี เรียกว่า เทหมดหน้าตัก เพียงขอแค่ให้รอดแบบไม่ถึงกับพิการหรืออำมพาตก็พอ ใช่ครับ วิกฤติครั้งนี้มันรุนแรงและน่ากลัวขนาดนั้น

ผู้เขียนไม่ใช่หมอ แต่ก็ฟังหมอมาไม่น้อย สรุปง่ายว่าๆ ในแง่ของอัตราการเสียชีวิตนั้น ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้น่ากลัวกว่าโรคอื่นๆ ที่มนุษยชาติเคยประสบมาแล้ว แต่ความน่ากลัวของมันอยู่ตรงที่มันแพร่เชื้อได้ง่ายมากๆ โดยเท่าที่วิทยาศาสตร์ตอนนี้เข้าใจ มันสามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่งที่สามารถแขวนตัวบนอนุภาคในอากาศ ซึ่งอาจจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก ทางอาหาร การขยี้ตา หรือแม้แต่การสูดอากาศที่มีอนุภาคติดเชื้อนั้นเข้าไป ก็มีสิทธิติดได้

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น อาจจะมีระยะฟักตัวที่นานมาก หรือแม้กระทั้งไม่มีอาการอะไรเลย แต่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ แล้วถึงเริ่มแสดงอาการ ก็มีลักษณะอาการที่ไม่ชัดเจน บางคนมีไข้ บางคนไม่มี บางคนไอแห้ง บางคนมีเสมหะ บางคนสูญเสียประสาทสัมผัสบางประการ บางคนปวดเมื่อยตามตัว จึงเป็นการยากที่เราจะรู้ตัวว่าเราติดแล้วหรือยัง เป็นเหตุผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเสมือนว่าทุกคนอาจจะติดโรคแล้ว ให้ทุกคนอยู่ห่างจากกัน ซึ่งเป็นเหตุที่ต้องสั่งหยุดกิจกรรมต่างๆ ในเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก

ทำไมรัฐบาลต้องเขามายุ่งวุ่นวายขนาดนี้? ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลควรมีบทบาทเฉพาะในกรณีที่ตลาดล้มเหลวเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่จะทำให้กลไกราคาในตลาดทำงานล้มเหลวมีหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ การเกิดผลกระทบภายนอก (Externality) พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าการตัดสินใจของคนคนหนึ่งไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมีต้นทุนตกต่อตัวเขาเองเท่านั้น แต่ยังไปตกที่คนอื่นๆ ด้วย อย่างในกรณีไวรัสโคโรน่านี้ การที่คนหนึ่งคนติดโรค ต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่การรักษาคนคนนั้น แต่สังคมจะต้องรับต้นทุนความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคออกไปในวงกว้าง ซึ่งนำมาซึ่งต้นทุนทางสังคมอีกมหาศาล เมื่อไวรัสโคโรน่ามีการส่งผลกระทบภายนอกเชิงลบมากขนาดนี้ การแทรงแซงโดยภาครัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด

เอาหละ รัฐบาลควรแทรกแซง แล้วการแทรงแซงแบบไหนที่ดีที่สุดกันละ? เป็นคำถามที่ตอบยากจริง ๆ ครับ เพราะคำตอบมันขึ้นอยู่กับว่า เราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน แม้แต่ในหมู่นักวิชาการเองก็มีความเห็นที่หลากหลาย โดยสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรน่านี้คงจะมีด้วยกันสองแนวทางด้วยกัน แนวทางที่หนึ่ง คือ การมุ่งลดอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ โดยใช้มาตรการเข้มงวดทุกรูปแบบที่เราเห็นๆ กันอยู่ตอนนี้ การงดกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดของผู้คน การให้กักตัวอยู่บ้าน การให้คนอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่าสองเมตร การให้กินของร้อน การให้ล้างมือ การสะกัดการเคลื่อนย้านของคน ฯลฯ

โดยมาตรการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเพื่อขจัดไวรัสโคโรน่าให้หมดไป เพราะด้วยลักษณะการแพร่เชื่อของไวรัสชนิดนี้ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ความหวังเดียวที่จะขจัดโรคนี้คือ การคิดค้นวัคซีนที่จะฉีดให้กับทุกคนบนโลกนี้มีภูมิซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็คงจะต้องเป็นต้นปีหน้า จำกว่าจะถึงวันนั้น เราจึงต้องพยายามชะลอจำนวนผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มเกินกว่าสรรพกำลังทางการแพทย์ที่มีของประเทศนั้น ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยึดมั่นปฏิบัติ เพราะไม่มีใครอยากเห็นภาพกองซากศพคนตายจากโรคระบาดที่เกิดจากการเลือกรักษาแบบที่เห็นในยุคกลางของยุโรป ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่อยากจะเห็นภาพเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ในแนวทางแรกนั้นมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นการตัดรายได้ของคนหลาย ๆ ภาคส่วน หลายบริษัทต้องปิดตัวลงไม่ว่าจะเพราะการลดลงของกำลังซื้อหรือการสั่งปิดจากรัฐบาล พนักงานจำนวนมากถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง อาชีพหาเช้ากินค่ำหลายอาชีพหมดรายได้ แล้วคนพวกนี้หลายคนไม่มีเงินเก็บ การที่ไม่สามารถทำงานเป็นเวลาครึ่งเดือนเป็นภาระทางด้านปากท้องต่อครอบครัวของคนกลุ่มนี้อย่างมาก ถึงแม้รัฐบาลจะมีเงินช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ แม้จะมีการชะลอหนี้ แม้จะมีการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่การที่คนยากจนกลุ่มนี้จะเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐบาลก็เป็นเรื่องยากและใช้เวลา

มองไปในอนาคตที่เราต้องอยู่กับไวรัสนี้โดยปราศจากวัคซีนอีกเป็นปี คนกลุ่มนี้จะอยู่ได้อย่างไร เมื่อคนเราจะอดตาย ใครจะสนสังคม ใครจะสนไวรัสโคโรน่า ใครจะสนกฎหมายและศีลธรรม สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงก็คือจำนวนอาชญากรรมที่สูงขึ้น การรวมตัวกันประท้วงรัฐบาล ความวุ่นวายในสังคม และอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดความวุ่นวายเกินรัฐจะปราบปรามได้ การแพร่เชื้อของโรคก็จะปะทุออกมาอยู่ดี ซึ่งก็หมายความว่าถ้าเราทำมาตรการกักตัวนี้ยาวนานเกินไป มันก็จะนำมาสู่การสูญเสียชีวิตคนโดยพิษของเศรษฐกิจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง นี่ยังไม่นับปัญหาที่เกินกว่าเรื่องปากท้อง เช่นปัญหาความเครียดจากการกักตัว เป็นต้น

แล้วแนวทางที่สองละ? ก็คือ การยกเลิกมาตรการกักตัว หยุดแค่กิจกรรมที่มีการรวมตัวขนาดใหญ่เท่านั้น ใครทำงานที่บ้านได้ก็ทำ ใครทำไม่ได้ก็กลับไปทำงานแบบเดิม เพิ่มเติมคือมาตรการป้องกันตัวเองต่างๆ ตรวจไข้ ใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อน และพยายามยืนห่างๆ กัน ซึ่งแน่นอน ถ้าเราเลือกวิธีนี้ จำนวนคนติดจะต้องเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มเกินศักยภาพทางการแพทย์ที่ประเทศจะรับไหว จะมีคนตาย จะมีภาพน่าสลดเกิดขึ้นตามสถานพยาบาลต่างๆ สุดท้ายไม่ว่าวัคซีนจะออกมาก่อน หรือคนติดเชื้อกันมากจนเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่มก่อน คนที่เหลือรอดก็จะกลับเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจปกติได้ เรียกได้ว่ากึ่งๆ กับปล่อยให้ธรรมชาติคัดสรรผู้ที่แข็งแรงกว่าก็จะอยู่รอด เราอาจจะเห็นวันที่มืดมิดกว่าทุกวันนี้ถ้าเราเลือกแนวทางนี้ แต่ถ้าเรารอดไปได้ เรารู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นวันที่ดี ชีวิตและเศรษฐกิจจะกลับมาสดใสได้รวดเร็วกว่าในแนวทางแรกที่น่าจะหน่วงเศรษฐกิจไปอีกยาวๆ

ไม่ว่าเลือกแนวทางไหนก็ต้องเจ็บ แนวทางไหนดีสุดสำหรับสังคมก็ไม่มีใครรู้ ถ้าถามคนมีอันจะกินก็ต้องเลือกแนวทางแรก ถ้าถามคนขัดสนก็ต้องเลือกแนวทางสอง ดังนั้น ผู้เขียนจะขอสนับสนุนแนวทางที่รัฐบาลได้เลือกแล้ว และขอให้ทุกท่านทำเช่นเดียวกัน ขอให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัด ร่วมมือกับทุกคำขอของรัฐบาล ใครที่จะอยู่ไม่ไหวอย่าเก็บเงียบ สื่อสารออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือครับ นี่เป็นเวลาที่เราจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันครับ ผู้เขียนจะไม่โลกสวยบอกว่าเราทุกคนจะรอดไปได้หรอกนะครับ แต่ถ้าเราเอาใจจับกันไว้แน่นพอ เราส่วนใหญ่จะผ่านมันไปด้วยกันครับ