posttoday

การจ้างงานสหรัฐฯ อ่อนแอลงรุนแรง จากวิกฤตไวรัสโคโรนา

06 เมษายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ ธนาคารกสิกไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 32.70-33.20 โดยเงินบาทในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้เคลื่อนไหวตามปัจจัยของเงินดอลลาร์เป็นหลักทั้งจากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รุนแรง เริ่มส่งผลให้การจ้างงานอ่อนแอลงมาก ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ ที่เพิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน 2 แสนราย โดยแนวโน้มอุปสงค์ของโลกที่อ่อนแอลงนำโดยสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ความต้องการสกุลเงินสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์ยังคงสูง และส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมีนาคมซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงมากตามราคาน้ำมันที่ลดลง ด้านนโยบายการเงิน ติดตามบันทึกจากการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่คาดว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนตลาดการเงินเพิ่มเติมเพื่อต่อสู่กับวิกฤตไวรัสโคโรนา ขณะที่ ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียและเกาหลีจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้ที่ 0.25% และ 0.75% ตามลำดับ หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในเดือนก่อน ส่วนนโยบายการเงินในไทย คาดว่า ธปท. จะออกมาตรการเยียวผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อตลาดการเงินเพิ่มเติม เช่น การพิจารณาการเข้าซื้อหุ้นกู้คุณภาพดีในตลาดรอง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยอ่อนค่าเหนือระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก เมื่อความกังวลต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยที่ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ขยายระยะเวลาให้ชาวอเมริกันรักษาห่างระหว่างกันไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน หลังจากทำเนียบขาวประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ อาจสูงถึง 100,000-240,000 คนในกรณีที่ดีที่สุด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอลงชัดเจนแม้ว่าจะประเมินว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบทั้งหมดของการแพร่ระบาดของไวรัส ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่กลางปี 2017 ที่ระดับ 120 ลดลงจากเดือนก่อนที่ 132.6 การจ้างงานภาคเอกชนโดย ADPลดลง 27,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคมจากเดือนก่อนที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่งและเป็นการจ้างงานที่ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2017 ยอดการรับสวสัสดิการการจ้างงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์วันที่ 28 มีนาคมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.65 ล้านคน ทำให้มียอดผู้ลงทะเบียนการว่างงานมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนในช่วง 2 สัปดาห์ สะท้อนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลงอย่างมาก และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดย ISM เดือนมีนาคมยังลดลงเป็นเดือนที่ 2 และสะท้อนภาวะหดตัวของภาคอุตสาหกรรม

ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ดอน นาครทรรพ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ธปท. แถลงว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวในทุกไตรมาสของปีนี้ โดยจะหดตัวลงมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปี และคาดว่าทั้งปี 2020 เศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินบาทลดลง ทำให้รัฐบาลประกาศห้ามคนออกจากบ้านในช่วงเวลา 22.00 น – 04.00 น ทั่วประเทศ และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 และ ธปท. เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.975 ในวันศุกร์ (เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนลดลง โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังคงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในอิตาลีใกล้ถึงจุดสูงสุดภายหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอิตาลีลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ ขณะที่ผลพวงของการแพร่ระบาดส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยูโรโซนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2013 มาอยู่ที่ 94.5 ในเดือนมีนาคมจากระดับ 103.4 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนหดตัวรุนแรงโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit) ภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 44.5 จากระดับ 49.2 ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนทางด้านประเทศสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยประธานาธิบดีทรัมป์เตือนว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ช่วงการระบาดรุนแรงที่สุดในสองสัปดาห์นี้ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับผลกระทบสะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2017 โดยตัวเลข ADP ชี้ว่าการจ้างงานเดือนมีนาคมลดลง 2.7 หมื่นตำแหน่ง จากที่เพิ่มขึ้น 1.79 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 22-28 มีนาคมเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่ามาอยู่ที่ 6.6 ล้านคน มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 3.76 ล้านคน และส่งผลให้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงถึง 10 ล้านคนหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โดยหากเทียบเคียงแล้วตัวเลขดังกล่าวยังมากกว่าตัวเลขสูงสุดสุดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2009 ซึ่งอยู่ที่ 6.6 แสนคนเท่านั้น ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ก็อ่อนแอสุดตั้งแต่กลางปี 2017 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นมากและความผันผวนของตลาดการเงินส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ย้อนกลับมาดูตัวเลขของฝั่งประเทศจีนที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติภายหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้แล้วนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนเดือนมีนาคมกลับมาขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยรวมเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมาที่ 53.0 จากระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ในเดือนก่อนหน้าที่ 28.9 หากลงลึกในรายละเอียด ดัชนีฯ ภาคบริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.3 (ก่อนหน้า 29.6) และ ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาที่ 52.0 (ก่อนหน้า 35.7 )

สุดท้ายข่าวที่น่าติดตามในประเทศไทยคือการออกพรก. กู้เงินว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะหากออกมาในรูปพันธบัตรรัฐบาลจะถือเป็นการเพิ่มอุปทานของพันธบัตรที่สูงพอควร อันจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวโดยที่เส้นความชันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น โดยนักลงทุนยังคงระมัดระวังในการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวอยู่และนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ ทำให้ ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.74% 0.79% 0.89% 1.13% 1.40% และ 1.56% ตามลำดับ

การจ้างงานสหรัฐฯ อ่อนแอลงรุนแรง จากวิกฤตไวรัสโคโรนา

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 10,019 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 482 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 9,127 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 410 ล้านบาท