posttoday

บริหารเงินอย่างไรให้ Stay Safe

03 เมษายน 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ AFPT และ ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ประเด็นร้อนตอนนี้คือ “โควิด-19” กำลังเป็นบททดสอบมนุษยชาติครั้งสำคัญ ที่บีบให้รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจเริ่มตั้งแต่กลุ่มท่องเที่ยว อย่างสายการบิน โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร กระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปห้างสรรพสินค้าและธุรกิจน้อยใหญ่ที่อาศัยห้างฯ เป็นช่องทางพบเจอลูกค้า รวมทั้งบรรดาลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รายได้ลดลง หรือถูกเลิกจ้างบ้าง แล้วแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจภาครัฐเองก็ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ให้การเยียวยารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยรายได้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ การยืดระยะเวลายื่นแบบประเมินภาษี การลดจำนวนเงินนำส่งเข้าประกันสังคม การให้พักชำระเงินต้นสินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งก็พอช่วยให้หายใจหายคอได้บ้าง แต่ยังไม่โลงใจเสียทีเดียวเพราะไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่

คำแนะนำแบบตรงไปตรงมาคือ ถ้าใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาก็น่าจะพิจารณาเข้ารับการช่วยเหลือตามมาตรการของภาครัฐ ส่วนการพักชำระหนี้เงินต้นโดยจ่ายแต่ดอกเบี้ยนั้นก็ให้ดูกำลังความสามารถในการผ่อนของตนเองเป็นหลัก การจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยช่วยให้มีสภาพคล่องแต่ละเดือนสูงกว่าการผ่อนทั้งต้นและดอกก็จริง แต่อย่าลืมว่าหนี้สินไม่ได้ลดลงเพราะส่วนของเงินต้นก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าผ่อนไหวก็ยังอยากให้ผ่อนตามปกติต่อไป ส่วนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้นอะไรประหยัดได้ก็ประหยัดไป

ในฐานะที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินส่วนบุคคลมานาน บอกได้เลยว่าพื้นฐานของการจัดการเงินที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ “ตัวเงิน” แต่อยู่ที่ “ความคิดในการจัดการเงิน” มีเงินเยอะแต่ใช้ไม่เป็นก็หมดได้ มีเงินน้อยแต่รู้จักขวนขวายก็สร้างฐานะได้ วิกฤติรอบนี้อาจมองเป็นโอกาสที่ดีในการจัดระบบความคิดด้านการเงินของตัวเองใหม่

1. “มีรายได้หลายทาง” - กลุ่มฟรีแลนซ์ที่รายได้เติบโตรวดเร็วตามปริมาณและคุณภาพงานที่รับทำ ควรหาแหล่งรายได้ที่สร้าง passive income เช่น ซื้อพันธบัตร ซื้อสลากออมสิน หรือให้เช่าอสังหาฯ ไว้บ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้แหล่งรายได้มีเสถียรภาพ

ส่วนกลุ่มพนักงานที่รับเงินเดือนประจำ ควรฝึกฝนทักษะสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ทั้งทักษะในสายวิชาชีพ ทักษะด้านการบริหาร เพราะจะทำให้มีโอกาสถูกเลย์ออฟเป็นคนท้ายๆ ขององค์กร หรือหากปิดบริษัทไปก็มีโอกาสที่จะหางานทำได้เร็วกว่าคนอื่น ใครมีความรู้ในสายวิชาชีพมากพอก็ลองพิจารณาแปลงไปเป็นอาชีพเสริมตามความถนัด เพื่อให้มั่นใจว่ามีแหล่งงานรองรับ

2. “ลงทุนอย่างเข้าใจและมีสติ” - คือให้เข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์เสี่ยงว่ามีลงมีขึ้นได้ ตอนนี้เห็นหลายคนพร่ำบ่นโอดโอยบ้าง โมโหบ้าง เศร้าสลดบ้างที่เห็นเงินที่ลงทุนไว้ลดลง แต่หากย้อนไปดูอดีตหลายสิบปีทั้งในช่วงสงครามโลก วิกฤตการณ์ทางการเงิน ก็จะเห็นได้ว่าภาวะแบบนี้จะอยู่ไปสักพักแล้วก็จะดีดกลับขึ้นมาใหม่ นอกจากเข้าใจแล้วก็ต้องมีสติด้วย ความกลัวมักทำให้ขายออกที่ราคาต่ำ ความโลภมักทำให้เข้าซื้อที่ราคาสูง หากมีสติด้วยการหาจังหวะทยอยเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว และทยอยขายเมื่อราคาเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Buy into Weakness กับ Sell into Strength การเรียนรู้และอดทนรอจังหวะที่เหมาะสมเป็นประโยชน์กว่า

3. “ทำประกันไว้บ้าง” - เดิมใครทำประกันถือว่าแช่งตัวเอง แต่ยุคนี้ใครไม่ทำประกันถือว่าไม่รู้จักวิธีจัดการความเสี่ยง ประกันก็มีหลายแบบทั้งแบบสะสมทรัพย์ที่เบี้ยสูงแต่ได้เงินเมื่อครบสัญญา แบบตลอดชีพที่เบี้ยต่ำหน่อยแต่จ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น ส่วนประกันแบบบำนาญก็เอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์การรับเงินรายงวด (annuity) หลังเกษียณ นอกจากนี้ ก็ยังมีประกันสุขภาพแบบต่างๆ หากเลือกไม่ถูกควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวางแผนการเงินที่ไว้ใจได้ ให้แนะนำแบบประกันให้ (ทั้งนี้ สำหรับสมาชิก กบข. สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน หรือ Financial Assistant Center ผ่านแอปพลิเคชัน My GPF Application ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)

4. “สำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน” จริงๆ เงินก้อนนี้ก็คือเงินออมนั่นเอง แต่นำไปอยู่ในสินทรัพย์ที่เรียกว่าสภาพคล่องสูงความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำที่สามารถถอนได้ง่าย หรือกองทุนรวมประเภทตลาดเงิน (Money Market Fund) เพื่อจะได้หยิบนำมาใช้ในยามจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติที่รายได้หลักหายไป เพื่อให้ดำรงชีวิต จ่ายค่าใช้จ่ายประจำวันหรือผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ แนะนำว่าควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 3 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน

5. “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” เช่น จากเดิมทานอาหารนอกบ้านบ่อยๆ ก็เปลี่ยนเป็นทำอาหารเองบางมื้อหรือจะสั่งมากินที่บ้านก็ได้ บางเมนูทำไม่ยาก เปิดเว็บไซต์สอนทำอาหารหรือ YouTube ลองๆ ทำดู ประหยัดเงิน ได้คุณภาพอาหารที่ต้องการ และยิ่งชวนคนในครอบครัวมาทำด้วยกันก็เพิ่มความสุขได้อีก

เอาแค่นี้ก่อนครับ ใครมีเทคนิคการจัดการเงินอย่างไรก็แชร์มาที่ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. อีเมล [email protected] ได้นะครับ ทางเราจะได้นำไอเดียมาเขียนเป็นบทความเผยแพร่ความรู้ให้กับท่านผู้อ่านในครั้งต่อๆ ไป