posttoday

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สัปดาห์นี้มีแนวโน้มสะท้อนสัญญาณการหดตัว

30 มีนาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีค (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 32.40-32.90 เงินบาทในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้เคลื่อนไหวตามปัจจัยของเงินดอลลาร์เป็นหลัก เนื่องจากคาดว่าตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมว่าจะเป็นอ่อนแออย่างรวดเร็วมากแค่ไหน การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพุธ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานจะประกาศในวันศุกร์ โดยเฉพาะเมื่อยอดขอรับสวัสดิการของผู้จ้างงานในสัปดาห์วันที่ 21 มีนาคมพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เสี่ยงสูงขึ้นมาก และคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้ โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบัน สหรัฐฯ กลายเป็นศูนย์กลางกาแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งมีผู้ที่ติดเชื้อมากที่สุดในโลก และจะคาดว่าจะทำให้เงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและบริการของเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซน และจีนที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเห็นสัญญาณที่อ่อนแออย่างชัดเจน โดนเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าถือครองเงินสกุลดอลลาร์ซึงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจแย่กว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ปรับลดลงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมแบบเต็มกำลังเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพในตลาดการเงิน โดย

(1) มาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) จะครอบคลุมถึงตราสารจำนองเชิงพาณิชย์ค้ำประกัน และขยายขนาดของมาตรการแบบไม่มีกำหนดขนาด ไม่มีกำหนดวันสิ้นสุด

(2) เฟดจะเพิ่มวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ และโครงการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน

(3) ตราสารที่ผูกกับเงินกู้เพื่อการศึกษา สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และค้ำประกันโดย SBA

(4) ขยายประเภทสินทรัพย์ใช้ค้ำประกันในมาตรการให้สภาพคล่องทั้ง MMFF และ CPFF ที่ประกาศก่อนหน้านี้ ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อผ่อนคลายความกังวลของตลาด โดยเฉพาะกองทุนที่ขาดสภาพคล่อง ภายใต้มาตรการ Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF โดย ธปท. ได้ขยายการเสริมสภาพคล่องให้ครอบคลุมตราสารจากทุกกองทุนที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund: MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund: Daily FI) ด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยการขอสภาพคล่องอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลบ 50bps (เหลือ 0.25%) โดยกองทุนรวมที่จะนำมาค้ำประกันต้องมีสัดส่วน 70% อยู่ใน เงินสด พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ ความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป

ขณะที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ขณะที่ตลาดคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.50% หลังจากที่ปรับลดครั้งล่าสุดในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ 25bps ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบจาก Covid-19 แต่มาตราการทางการเงินที่ผ่านมาจะช่วยลดทอนผลกระทบและคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2020 จะหดตัวสูงถึง 5.3% จากประมาณการรอบก่อนที่ +2.8% ตามการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัวรุนแรงเป็นหลัก ก่อนจะกลับมาขยายตัวที่ 3.0% ในปี 2021 ด้านอัตราเงินเฟ้อจะลดลง 1.0% ในปี 2020 จากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลักและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว

นอกจากนี้ ธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL โดยให้มีการลดอัตราการผ่อนชำระสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน และให้มีการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงให้มีการพักชำระเงินต้นและพิจารณาลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟเเนนซ์ และนาโนไฟแแนนซ์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

เงินบาทยังโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ปรับลดลงหลังจากหลังจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสำหรับสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มีนาคมพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 3.28 ล้านคนตามการปิดตัวของธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ล่าสุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 82,400 ราย สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนซึ่งอยู่ที่ 81,782 คน ส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.56 (ณ 17.00 น.)ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอิงกับปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 5 แสนคนทั่วโลก และเป็นที่แน่ชัดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

โดยประเทศที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดคือสหรัฐฯที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะลอตัวลง สะท้อนผ่านตัวเลขยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.3 ล้านรายในสัปดาห์ก่อน จาก 282,000 คนในสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.7 ล้านราย

ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯคงเห็นสัญญาณของความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจึงได้เดินหน้าประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมแบบเต็มกำลังเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพในตลาดการเงิน โดยมาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) จะครอบคลุมถึงตราสารจำนองเชิงพาณิชย์ค้ำประกัน และขยายขนาดของมาตรการแบบไม่มีกำหนดขนาด ไม่มีกำหนดวันสิ้นสุด ขณะเดียวกันสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาและสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นขนาด 10% ของจีดีพีสหรัฐฯ โดยมาตรการรอบนี้ครอบคลุมเงินช่วยเหลือ 1,200 ดอลลาร์ต่อคน การปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดเล็ก การเพิ่มเงินประกันเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ว่างงาน และให้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ อาทิ ธุรกิจสายการบิน รวมถึงเงินสนับสนุนระบบสาธารณสุขและรัฐบาลท้องถิ่น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถลดความผันผวนของตลาดลงไปได้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในประเทศนั้น ธปท. ได้มีประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25bps แบบฉุกเฉินมาอยู่ที่ 0.75% ต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 พร้อมกับมีประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ 3 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังนี้

(1) มาตรการเพิ่มสภาพคล่องกองทุนรวมผ่านธนาคารโดยให้สภาพคล่องกับธนาคารระยะสั้น โดยใช้สามารถนำกองทุนรวมมาค้ำประกัน

(2) ตั้งกองทุนรวม เสริมสภาพคล่อง (BSF) ร่วมระหว่าง ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) วงเงิน 70,000 - 100,000 ล้านบาทเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยจะเข้าซื้อหุ้นกู้ที่ต่อระยะเวลา (roll over) หากหุ้นกู้นั้นๆ ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้เต็มจำนวน

(3) ธปท. จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานราบรื่น โดย ธปท. เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า 1.2 แสนล้านบาทในเดือนนี้

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบปกติมีมติ 4:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% พร้อมชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและตลาดการเงินเริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติหลังจากการออกมาตรการสนับสนุนตลาดการเงิน

ที่สำคัญ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2020 จะหดตัวสูงถึง 5.3% จากประมาณการในเดือนธันวาคมที่ +2.8% ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว 3.0% ในปี 2021 ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ -1.0% ในปี 2020 จากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลักและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงสอดรับกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. รวมไปถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มหดตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลไทย

โดย ณ วันที่ 27 มีนาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.76% 0.83% 0.88% 1.06% 1.27% และ 1.47% ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สัปดาห์นี้มีแนวโน้มสะท้อนสัญญาณการหดตัว

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 13,154 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,804 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,196 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 4,762 ล้านบาท