posttoday

คาดธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย 0.50%

23 มีนาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 32.30-32.80 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มกำลังเพื่อรับมือกับผลกระทบจากกาแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจและเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของนักลงทุนในตลาดการเงิน

ความสนใจของตลาดการเงินในสัปดาห์นี้คาดว่าจะอยู่ในการประชุมของผู้นำในกลุ่มประเทศจี-7 เกี่ยวกับมาตรการรับมือต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ด้านธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางเม็กซิโก และธนาคารกลางนิวซีแลนด์มีกำหนดประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ ด้านการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 50 bps เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอลงมากในระยะข้างหน้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทผันผวนสูงและอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตลาดการเงินโลกเข้าสู่ภาวะตึงตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก ตามการแพร่ระบาดของโควิดที่เร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ รวมทถึงการแพร่ระบาดในไทยรุนแรงขึ้นชัดเจน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเร่งขายสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง และกลับเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์ในตลาดโลกขาดแคลนอย่างหนัก และเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกกลับอ่อนค่าลง รวมทั้งไทยด้วย โดยเพียง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (16-19 มีนาคม) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท และจากตราสารหนี้ไทยสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกันแล้วสูงกว่ามูลค่าที่ขายสุทธิทั้งเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงแรงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้นรวดเร็วด้วย

ด้านธนาคารกลางทั่วโลกเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นจากเฟดที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินถึง 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 0.00-0.25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 พร้อมทั้งกัลบมาใช้มาตรการซื้อสินทรัพย์ พร้อมทั้งเร่งเพิ่มสภาพคล่องโดยตรงในตลาดอาทิ การทำ swap line เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ร่วมกับธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก และการปล่อยเงินกู้และการซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังลดอัตราเงินสำรองต่อเงินฝากลงเหลือ 0% ทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ เร่งลดดอกเบี้ยรวมถึงออกมาตรการซื้อสินทรัพย์ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนฉุกเฉิน ทำให้เงินบาทรวมถึงเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างมาก ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.607 (ณ 17.10 น.) ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดตั้งแต่ปลายปี 2018

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีความผันผวนสูง นักลงทุนเลือกที่จะลดการถือครองสินทรัพย์ทุกประเภทและหันมาถือครองเงินสด เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สะท้อนว่าตลาดกำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยสาเหตุเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่แพร่กระจายไปในวงกว้างจนมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 200,000 คนทั่วโลก รวมไปถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกที่อาจนำไปสู่ช่วงเวลาของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจในหลายๆอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตที่นักลงทุนต้องเผชิญ ท่ามกลางความวุ่นวายของตลาดการเงินและสภาพคล่องที่ตึงตัว ทำให้ธนาคารกลางในหลายๆประเทศต้องหันมาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมฉุกเฉินที่ 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.00-0.25% เป็นระดับต่ำสุดเท่ากับดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2008-2015

นอกจากนี้ เฟดได้ประกาศมาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) เพิ่ม 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาล 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และประกาศให้เงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ (Discount Window) ระยะสั้น 90 วันเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่อง ลดอัตราการดำรงเงินสดสำรองต่อเงินฝาก (RRR) ลงมาอยู่ที่ 0% และทำข้อตกลงกับธนาคารกลาง14 แห่งในการรักษาสภาพคล่องของเงินดอลลาร์โดยการจัดวงเงินสำหรับธุรกรรม Swap (Swap lines) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉิน (Pandemic Emergency Purchase Program) วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรเพื่อรับมือผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจและเพื่อบรรเทาความกังวลของตลาดการเงินหลังจากนักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลของยุโรปอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ย 15bps มาอยู่ที่ 0.1% และเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรมาที่ 6.45 แสนล้านปอนด์ ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินวงเงิน 1.3 ล้านล้านเยน ธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% และใช้นโยบายซื้อสินทรัพย์เป็นครั้งแรก

สำหรับประเทศไทยนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations หรือ OMOs) เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวรวมเป็นยอดการเข้าซื้อระหว่างวันที่ 13-20 มีนาคม ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และมีแผนลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินเช่นกัน ภายหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.00% 1.07% 1.14% 1.33% 1.51% และ 1.69% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 35,606 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 6,896 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 27,990 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 720 ล้านบาท