posttoday

3 วิธีเลือกประกันสุขภาพในยุคปัจจุบัน

19 มีนาคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ยังไม่จางหาย มลพิษทางอากาศจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม การปนเปื้อนสารเคมีในข้าวและอาหารต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทานอาหารที่มีไขมันสูง และขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมา เมื่อเกิดโรคภัยขึ้นแล้วก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา ซึ่งทั้งตนเองและครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงด้านการเงินส่วนนี้ การเลือกใช้ประกันสุขภาพมาป้องกันผลกระทบทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่หลายคนหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น การเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับตนเองนั้นมีสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้

1. กังวลเรื่องอะไรให้ทำประกันเรื่องนั้น ช่วงนี้ประกันคุ้มครอง COVID-19 ได้ความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้คนในสังคมวิตกกังวลเรื่องการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยประกัน COVID-19 มีความคุ้มครองหลายรูบแบบไม่ว่าจะเป็น ลักษณะการจ่ายเงินก้อนทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อไวรัสแบบที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามวงเงิน การจ่ายค่าชดเชยรายวันในกรณีนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อ รวมถึงหากเข้าขั้นโคม่าหรือเสียชีวิตก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งเบี้ยประกันเฉพาะโรคแบบนี้มีราคาไม่แพง เพียงแค่หลักร้อยบาทก็ทำให้ได้รับความคุ้มครองหลักแสน

ทำประกัน COVID-19 แล้วต้องไม่ลืมประกันโรคร้ายแรงอื่น ๆ หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง ก็ควรพิจารณาทำประกันสุขภาพโรคมะเร็งไว้เพิ่มเติมเพื่อที่จะได้เป็นทุนสำหรับการรักษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากประกันสุขภาพที่คุ้มครองส่วนค่ารักษาพยาบาลแบบทั่วไป และในปัจจุบันบริษัทประกันมีประกันสุขภาพโรคร้ายแรงหลายแบบ เช่น ประกันที่คุ้มครองโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น ซึ่งประกันโรคร้ายแรงเป็นประกันที่ควรมีไว้เพิ่มเติม แม้โอกาสเป็นน้อยแต่เมื่อเป็นโรคร้ายแรงแล้ว มักมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งค่าเบี้ยประกันเพิ่มเติมส่วนโรคร้ายแรงนี้ก็ไม่แพงมากนัก

2. เลือกวงเงินความคุ้มครองให้เหมาะกับความต้องการก่อนอื่นควรสำรวจสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลหรือประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิม จากนั้นจึงพิจารณาทำประกันสุขภาพเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาด เนื่องจากการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ ซึ่งการเจ็บป่วยเเต่ละครั้งนั้นทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากมาย เช่น ค่าห้องรักษา ค่ายา ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล ค่าผ่าตัด ค่าอุปกรณ์การแพทย์ และค่าตรวจรักษาอื่น ๆ หากเจ็บป่วยขึ้นมาและประกันสุขภาพที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ตัวอย่าง ถ้าเจ็บป่วยแล้วมีค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด 100,000 บาท เเต่ประกันที่มีอยู่มีวงเงินคุ้มครอง 40,000 บาท นั้นหมายถึงมีส่วนที่เราต้องจ่ายส่วนต่างถึง 60,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะกระทบเงินเก็บออมของเราได้ ดังนั้นการทำประกันสุขภาพควรมีวงเงินคุ้มครองที่ครอบคลุมในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาและระดับบริการทางการแพทย์ที่ต้องการ ทั้งนี้ควรพิจารณาความสามารถในการจ่ายเบี้ยร่วมด้วย

3. ต้องเข้าใจเงื่อนไขและข้อยกเว้นก่อนทำประกันโดยทั่วไปแล้วบริษัทประกันจะรับทำประกันผู้ที่มีประวัติสุขภาพดี ร่ายกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ และจะมีการยกเว้นไม่คุ้มครองในหลายกรณี เช่น ประกันคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) จะไม่คุ้มครองผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสก่อนทำประกัน ไม่คุ้มครองผู้ที่เคยติดเชื้อและได้รับการรักษามาแล้ว ซึ่งถือได้ว่ามีสภาพที่เป็นโรคมาก่อนทำประกันภัย (Pre-existing Condition) และเงื่อนไขสำคัญคือไม่คุ้มครองผู้ที่เดินทางไปยังประเทศหรือเขตปกครองพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงก่อนทำประกันภัยเป็นระยะเวลา 14-30 วัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน) ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ ควรศึกษาก่อนตัดสินใจทำประกัน

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าเมื่อทำประกันสุขภาพจะมีระยะเวลาที่ประกันยังไม่คุ้มครอง (Waiting Period) สำหรับการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ทำประกัน 30-120 วัน (ขึ้นอยู่กับโรคต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์) หากทำประกันหลังจากที่เคยเจ็บป่วยอาจไม่ได้รับความคุ้มครองในโรคที่เป็นอยู่ก่อน ดังนั้นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุม ควรรีบทำประกันในช่วงที่สุขภาพยังแข็งแรงดีอยู่ และหากทำประกันภัยโดยไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงกับบริษัทประกัน สัญญากรมธรรม์จะเป็นโมฆียะ ซึ่งหมายถึงถ้าบริษัทประกันพบทีหลังว่า ผู้ทำประกันปกปิดความจริง แล้วข้อมูลที่ปกปิดมีผลต่อการรับประกัน สัญญาที่ทำมาจะยังมีผลบังคับอยู่จนกว่าจะถูกบริษัทประกันยกเลิก (บริษัทประกันมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าสินไหมชดเชย)

การทำประกันสุขภาพนั้นเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลออกไปให้กับบริษัทประกัน แทนที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้เอง และก่อนที่จะทำประกันสุขภาพควรทำความเข้าใจว่า ไม่มีประกันแบบใดที่ดีที่สุด มีแค่แบบประกันที่เหมาะสมกับแต่ละคนแตกต่างกันไป

สำหรับสมาชิก กบข. สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกประกันสุขภาพ โดยนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน”