posttoday

คิดถึง LTF

17 มีนาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ในช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางด้านสุขอนามัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตอกย้ำอีกครั้งให้เห็นถึงความสำคัญของการออม และการบริหารจัดการทางการเงินของครัวเรือนซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจย่อยในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้าเกิดขึ้นได้เสมอ ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงและกว้างขวางมากขึ้น หมายถึงว่า ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น มีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น

คำถามคือ ถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง มีความยั่งยืน ครัวเรือนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลักในระบบเศรษฐกิจนั้นมีความเข้มแข็งเพียงใด มีความพร้อมที่จะรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด (โดยไม่ต้องแบมือ หรือเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางทีความช่วยเหลือก็ไปตกกับบางคนมากกว่าบางคน ทั้ง ๆ ที่คนที่เดือนร้อนจริง ๆ และช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือไปตกกับคนอื่นที่มีความจำเป็นน้อยกว่า)

เช่นในกรณีนี้ ก็ดูเหมือนว่ามีแนวคิดที่พยายามจะผลักดันมาตรการช่วยเหลือทางด้านค่าครองชีพ (ด้วยการแจกเงิน อีกแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรการในลักษณะนี้เลย แต่ก็เป็นอีกประเด็นที่จะสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้) จำนวน 2,000 บาทให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อคราวจดทะเบียนคนจน ประมาณ 14.6 ล้านคน โดยมองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนมากที่สุด แล้วก็มีมาตรการอื่น ๆ อีกสำหรับผู้ประกอบการโดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปัญหาคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่กับคนกลุ่มเหล่านี้ กลุ่มที่ตกหล่นไป (เสมอ) คือกลุ่มคนชั้นกลาง (มนุษย์เงินเดือน) ซึ่งรัฐคงคิดว่าน่าจะสามารถดูแลตัวเองได้แม้ว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจเพราะโดยปกติกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นผู้เสียภาษีตามหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ไม่ค่อยได้รับการลดหย่อน หรือแม้ว่าจะหลบเลี่ยงก็ยังหลบเลี่ยงได้ยากลำบาก ก็เป็นเหตุให้ไม่น่าแปลกใจที่ได้เห็นรายงายของธนาคารโลกที่บ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้คนบางกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางต้องตกลงไปเป็นคนยากจนถึง 6.8 ล้านคน

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเหล่านี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนชั้นกลางของไทยยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เครื่องมือทางการเงินในการสร้างวินัยทางการออม ใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยงทางการเงินจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจด้วยตัวเอง (Self Preparation Mechanism) แบบ LTF โดยรัฐมีเพียงรายจ่ายเป็นการอุดหนุนในรูปของการสูญเสียรายได้ที่พึงได้รับไป (Foregone Revenue) กลับถูกลิดรอน ยกเลิกไปด้วยเพียงเหตุผลว่าเป็นประโยชน์กับคนรวย ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนจน ทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในแง่มุมนี้ต่อกลุ่มคนชั้นกลางที่พอจะมีการออมได้บ้าง เพื่อการใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน หรือแม้แต่มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ลำบาก ตกทุกข์ได้ยากมากจนรับไม่ไหว

ในสถานการณ์ที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังคืบคลานเข้ามาจนเป็นการยากที่จะคาดเดากันว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด และจะมีผลต่อเนื่องกันไปนานแค่ไหน ซึ่งถ้ามีผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็มีการวิเคราะห์กันว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซบเซาไปได้เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ไตรมาสหรืออาจจะมากกว่านั้น การฟื้นตัวจากผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบที่เรียกว่าเป็น U-shape เพราะผลกระทบแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แถมลักษณะของการกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เป็นเพียงแต่ทางด้านอุปสงค์ (Demand Shock) แต่อาจมีผลกระทบทางด้านอุปทานด้าน (Supply Shock) ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เกิดสภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น (สินค้าราคาแพง) และไม่มีสินค้าให้จับจ่ายใช้สอย (ขาดแคลนสินค้า) คล้ายๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำมันในอดีต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ปัญหาชุดต่อไปหลังจากการระบาดก็จะเป็นเรื่องสภาวะข้าวยากหมากแพง สินค้าราคาแพง และประชาชนไม่มีเงินหรือรายได้ที่จะจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจฝืดเคืองและซบเซา (Stagflation)

การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายทางการคลังจึงมีความสำคัญมากต่อการรองรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์แบบนี้ ความเข้มแข็งของภาคครัวเรือนมีความสำคัญมากต่อการปรับตัวรองรับ เรียกว่า ถ้าครัวเรือนเข้มแข็ง การปรับตัวก็จะทำได้ง่ายกว่า (ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้รับผลกระทบนะครับ ได้รับผลกระทบ แต่สามารถปรับตัวรองรับได้ดี) และมีประสิทธิภาพ รัฐก็เพียงทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ช่วยสนับสนุนประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ การใช้จ่ายงบประมาณก็จะสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าครัวเรือนไม่เข้มแข็ง รัฐก็จะถูกกดดันให้เข้าไปอุ้ม เข้าไปแบกรับภาระแทน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และเป็นการใช้แบบไม่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่นการใช้มาตรการ "แจกเงิน" ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานะของปัญหาในขณะนี้ และอาจทำให้เกิดเป็นปัญหาเรื่องอื่นได้อีก เช่น จะให้ใคร? เท่าไหร่? อย่างไร? เพราะอะไร? โปร่งใสแค่ไหน? หรือแม้แต่ว่า ถ้าให้ไปแล้วไม่พอจะให้อีกไหม?

น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่เคยทำการทดสอบความทนทานในภาคครัวเรือน (Household Stress Test) ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ ทั้งนี้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และหลังจากนั้น เรามีการทำการทดสอบดังกล่าวกับสถาบันการเงินเพื่อให้แน่ใจได้ว่า สถาบันการเงินจะสามารถรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เพียงใด นำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรฐานในทางปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินหลายมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง คงจะดีไม่น้อยถ้าเราจะได้ศึกษาและพัฒนาการทดลองความทนทานในภาคครัวเรือนดูบ้างในอนาคต

ในแง่มุมนี้ ผมเองมองว่ามาตรการ LTF ที่เราได้เคยดำเนินการมา (แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว และมีมาตรการ SSF มาแทน) ที่เป็นการชักจูงให้เกิดพฤติกรรมการออม (ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ดีที่เราอยากส่งเสริมให้มีมากในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว) คงจะทำให้ครัวเรือนที่มีการออมผ่านช่องทางนี้ อย่างน้อยที่สุดคงจะมีความมั่นคงทางด้านการเงินของครัวเรือนได้ดีกว่าและช่วยบรรเทาความเดือดร้อน (ด้วยการพึ่งตนเอง) ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะครัวเรือนที่ครบกำหนดที่จะขายกองทุน LTF ที่ซื้อไว้ได้แล้ว แน่นอนว่า การขายกองทุน ณ เวลานี้ก็อาจจะทำให้เกิดการขาดทุนได้เพราะราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับลดลงมามาก ซึ่งก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความจำเป็นคือ ผู้ที่ออมผ่าน LTF ก็คงจะตัดสินใจขายในช่วงเวลานี้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น (เพราะราคาลดลงมามาก) ถ้าไม่จำเป็นก็คงจะชะลอการขายไปก่อน ซึ่งเท่ากับว่า เงินออมก้อนนั้นจะสามารถทำหน้าที่ในการรักษาสภาพคล่องของครัวเรือนในยามเดือดร้อนและจำเป็นได้เป็นอย่างดี ก็เป็นเหตุให้คิดต่อไปได้ว่า เพราะอะไรจึงมีมาตรการปรับเพิ่มวงเงิน SSF ขึ้นที่จะใช้เพื่อการหักลดหย่อนภาษี การปรับเพิ่มวงเงินไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มาก และคงจะมีประสิทธิภาพไม่ได้มากเพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและบั่นทอนรายได้ของประชาชนอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน มาตรการที่อาจจะมีผลได้มากกว่าอาจจะเป็นการอนุญาตหรือทำให้ครัวเรือนที่ได้ออมผ่านการซื้อ LTF (และได้รับการหักลดหย่อนภาษี) ที่ยังไม่ครบกำหนดที่จะขายได้ ให้สามารถขายได้โดยที่ยังไม่ครบกำหนดเมื่อเขามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่อง มาตรการแบบนี้รัฐมีค่าใช้จ่ายในแง่ของงบประมาณน้อย ควบคุมกำกับให้มีความโปร่งใสได้ง่ายเพราะผู้ลงทุนใน LTF คงไม่ตัดสินใจขายกองทุนถ้าไม่ใช่เพราะเหตุผลจำเป็นจริง ๆ (เพราะถ้าขายตอนนี้จะขาดทุนมาก) มาตรการนี้ก็จะทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นใจทางด้านสภาพคล่องให้กับครัวเรือนที่มีวินัยทางการเงินได้เป็นอย่างดี เพิ่มเติมจากนั้น อาจจะลองพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ถือกองทุน LTF จะสามารถใช้มูลค่าของกองทุนที่มีอยู่มาใช้เป็นหลักประกันสำหรับการกู้ยืมเงินในกรณีที่เขามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพราะขาดสภาพคล่อง ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินให้กับครัวเรือนทางหนึ่งด้วย