posttoday

ความน่าจะเป็นของไวรัส เศรษฐกิจ และตลาดทุน

16 มีนาคม 2563

คอลัมน์: รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มมีสถานการณ์รุนแรงขึ้นทั่วโลกและสร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งการเฝ้าระวังทั้งภาครัฐฯ และผู้บริโภคมีผลกระทบโดยตรงและอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะชะลอลงอย่างมาก ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ผู้ผลิตบางรายถึงขั้นหยุดผลิต จากสถานการณ์ปัจจุบันนักลงทุนต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานะที่ยากจะคาดเดาว่าเหตุการณ์ไวรัสจะเป็นเช่นไร เศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรและตลาดทุนจะตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร เพื่อจะทำให้เข้าใจกับความน่าจะเป็นในแต่ละเรื่อง จึงอยากจะขอแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องไวรัส เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องตลาดทุน ดังนี้

1. ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวรัส แต่เท่าที่อ่านมาสรุปทางออกของไวรัส COVID-19 มีอยู่ได้ 3 กรณี ได้แก่

1) ป้องกันได้และหายไป เมื่อหน้าร้อนมาถึงเช่นเดียวกับ SARs และ MERs

2) มีวัคซีนและยาต้านไวรัสโคโรนา และป้องกันได้ จำนวนผู้ป่วยลดลงถึงขั้นไม่เป็นที่น่าตกใจ

3) COVID-19 กลายเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ได้หายไป แม้จะมีวัคซีนและยาต้านที่ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตสูงขึ้นแต่จะเป็นอีกโรคหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการในระบบสาธารณสุขปัจจุบันได้ ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ไวรัส COVID-19 นี้จะจบแบบไหน ภายในระยะเวลาเท่าใด

2. ความเป็นไปของเศรษฐกิจ แน่นอนจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยของไวรัส และจะมีอีก 4 ด้านที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 1) การหดตัวของผู้บริโภคและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศเนื่องจากมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่าง

2) การใช้นโยบายการเงินที่แม้ว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่ได้มีผลอะไรมากเนื่องจากรากของปัญหาอยู่ที่การระบาดและผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง แต่ก็เป็นนโยบายที่จำเป็นเพื่อช่วยภาคธุรกิจให้พอต่อชีวิตไปได้

3) การใช้นโยบายการคลัง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าแต่ละประเทศจะมีความพร้อมที่แตกต่างกันมาก ทั้งประเทศที่มีการเกินดุลงบประมาณ เช่น เยอรมนี หรือประเทศที่มีการขาดดุลงบประมาณ เช่น อิตาลี บางประเทศมีโครงการที่พร้อมลงทุน บางประเทศยังต้องรอ ซึ่งจะทำให้การใช้นโยบายการคลังแตกต่างอย่างมาก

4) ความแตกต่างของผู้นำแต่ละประเทศและการตัดสินใจอย่างเฉียบขาดภายใต้แรงกดดันจากทุกๆ ส่วนจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการทำให้ประชาชนไม่ตกใจกลัวจนเกินไปนั้น มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ทั้ง 4 ข้อนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้และทุกเรื่องเป็นการตอบสนองต่อการจบของไวรัสที่กล่าวในข้อแรก อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาคงจะมีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก ตราบใดที่ยังไม่สามารถจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสได้

3. ตลาดทุนในคราวนี้ผันผวนมาก แต่จะเห็นได้ว่าการกระจายความเสี่ยงส่งผลให้พอร์ตที่มีตราสารหนี้ยังคงยืนระยะได้ ไม่ลงมากเท่ากับพอร์ตที่มีแต่หุ้น และพอร์ตที่ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบ “Risk Based” ยังคง “แค่ตกหลุมไม่ตกเหว” มันเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าตลาดหุ้นจะตีกลับเมื่อไร เพราะจากปัจจัยทั้งสองข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่าเราไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าเหตุการณ์จะไปทางไหน การกระจายความเสี่ยงโดยให้เครื่องตัดสินใจแทนอารมณ์ของเราในเวลานี้ เป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด

ทาง KBank Private Banking ได้เน้นกลยุทธ์การลงทุน กระจายลงทุนในทุกสินทรัพย์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และต้องมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนตามสภาวะ หรือความผันผวนของตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นกองทุนเปิดเค โกลบอล ริสก์ แอลโลเคชั่น ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (K-GLAM-UI) ที่สามารถเผชิญกับสภาวะตลาดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี การลงทุนทางเลือก เช่น หุ้นนอกตลาดในกลุ่มเทคโนโลยี ช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เพราะจะมีตัวเลือกให้ลงทุนหลากหลายมากขึ้นและไม่ค่อยผันผวนตามตลาดอีกด้วย