posttoday

สร้างนิสัยการเก็บเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางของ Atomic Habits

11 มีนาคม 2563

บทความโดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร และเขมรัฐ ตาดทอง ผู้จัดการกองทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล

ผมเชื่อว่าพอเข้าสู่ปีใหม่ ผู้อ่านหลายๆท่าน มักมีการตั้งเป้าหมายที่อยากจะทำให้สำเร็จ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายยอดฮิตมักจะเป็นเรื่องของเงินๆทองๆ หลายท่านอยากจะเก็บเงินให้ได้มากขึ้น หรืออยากจะเริ่มมาเรียนรู้เรื่องการลงทุน เป็นต้น

แต่หลายครั้งเป้าหมายของปีนี้ ก็เป็นเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้เมื่อปีที่แล้ว เพราะยังทำไม่สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่สามารถสร้างวินัยได้ดีเท่าที่ควร และส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเป้าหมายนั้นยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็น “นิสัย” จึงทำให้ปฎิบัติต่อเนื่องได้ยากและล้มเลิกไปในที่สุด

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Atomic Habits เขียนโดย James Clear เป็นหนังสือที่พูดถึงวิธีการสร้างนิสัยที่ดีและเลิกนิสัยที่ไม่ต้องการ โดยหนังสือได้นำเสนอหลักการ 4 ข้อของการสร้างหรือเลิกนิสัย ซึ่งผมจะขอนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการเก็บเงิน เพื่อสร้าง “นิสัยการเก็บเงิน” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยหลักการ 4 ข้อที่จำได้ง่ายๆดังนี้ 1)ทำให้เห็นชัด 2)จัดให้ดึงดูด 3)ในรูปแบบที่ง่าย และ 4)ทำได้ให้ความสุข

ข้อที่ 1 ทำให้เห็นชัด (Make it obvious)

ในขั้นแรก เราต้องทำให้การเก็บเงินนั้นมีความชัดเจน และเห็นได้ง่าย เช่น การแยกบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีเพื่อการออมออกจากกัน เพื่อจะช่วยลดความสับสนว่าเดือนนี้ใช้เงินไปเท่าไหร่ และเหลือเงินเท่าไหร่ จะทำให้สามารถติดตามการเก็บเงินได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งเราควรมีการกำหนดเวลาหรือสถานการณ์ที่เราจะต้องเก็บเงิน เช่น จะเก็บเงิน 5% ในวันที่เงินเดือนออก หรือ จะเก็บเงินเพิ่มในกรณีที่มีรายได้พิเศษเข้ามา เป็นต้น อีกวิธีที่จะช่วยให้การเก็บเงินเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นคือการตั้งวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินก้อนนั้นๆให้ชัดเจน เช่นการเก็บเงินเพื่อทริปไปเที่ยวต่างประเทศ การเก็บเงินเพื่อใช้ในการศึกษาต่อ ซึ่งผมแนะนำว่าการแยกบัญชีการออมแยกตามวัตถุประสงค์การเก็บเงินจะช่วยให้เราเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น เวลายอดเงินเพิ่มพูนในแต่ละบัญชีจะช่วยให้เรามีกำลังใจในการรักษานิสัยที่ดีของเราอย่างต่อเนื่อง

ข้อที่ 2 จัดให้ดึงดูด (Make it attractive)

เราต้องทำให้การเก็บเงินนั้นเป็นสิ่งที่น่าทำ อาจใช้การผูกสิ่งที่เราชอบทำ เข้ากับการเก็บเงิน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราชอบดูหนังซีรี่ย์ใน Netflix มาก เราอาจใช้จุดนี้เป็นประโยชน์ โดยทุกครั้งที่เราเปิด Netflix ต้องทำการหย่อนเศษสตางค์ลงในกระปุกออมสินข้างๆทีวีด้วยเสมอ หรืออาจรวมไปถึงการเข้าร่วมกลุ่มมีความสนใจด้านการวางแผนการเงิน ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองที่แปลกใหม่ ตลอดจนการติดตามแฟนเพจในเฟสบุคหรือบุคคลที่เราชื่นชอบ ก็จะทำให้รู้สึกสนุกและทำตามเป้าหมายได้สม่ำเสมอ นอกจากนี้ผมอยากนำเสนอมุมมองการเก็บเงินที่น่าดึงดูดจากการปรับนิสัยการใช้จ่ายบางอย่างที่ดูไม่ยากแต่จะสามารถสร้างเงินออมจำนวนมากในอนาคต เช่นถ้าเราเปลี่ยนการทานกาแฟสดจากร้านดังแก้วละร้อยบาทมาเป็นกาแฟฟรีที่ทำงาน เงินร้อยบาทต่อวันที่นำไปลงทุนที่ 8% ต่อปีตลอดชีวิตการทำงานจะสามารถกลายเป็นเงินออมสะสมกว่าสี่ล้านบาท ณ วันเกษียณอายุ คิดแค่นี้แล้วนำเงินค่ากาแฟมาออม เราก็จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการออมเล็กๆน้อยๆเป็นก้อนใหญ่ได้ง่ายขึ้น

ข้อที่ 3 ในรูปแบบที่ง่าย (Make it easy)

การเก็บเงิน ถ้าทำได้ง่ายและสะดวกเราจะสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น อาทิเช่น การให้บัญชีเงินเดือนมีการตัดเงินอัตโนมัติในทุกต้นเดือน เพื่อนำไปซื้อกองทุนรวม จะช่วยสร้างวินัยได้ดี ในขณะเดียวกันถ้าทำให้การถอนเงินกลายเป็นเรื่องยาก เช่น การให้บัญชีออมเงิน ไม่มี ATM หรือ Mobile Banking ถ้าต้องการจะถอนเงินต้องไปดำเนินการที่ธนาคารเท่านั้น แบบนี้ก็จะช่วยให้เรามีการคิดทบทวนที่มากขึ้น การออมอัตโนมัติอีกรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนอาจมีคือการกำหนดเงินเดือนที่จะถูกหักทุกเดือนเพื่อสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจัดตั้งให้พนักงาน ข้อดีของการหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอัตโนมัติคือเงินออมก้อนนี้ปลอดภาษีถ้าเราสมทบในอัตราที่อยู่ในเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด (นักลงทุนควรศึกษาเกณฑ์ภาษีประกอบ)

ข้อที่ 4 ทำได้ให้ความสุข (Make it satisfying)

หลักการคือ หากทำอะไรแล้วมีความสุข เรามักมีแนวโน้มที่อยากจะทำสิ่งนั้นต่อ แต่ด้วยการเก็บเงิน หรือการลงทุนนั้น เป็นเป้าหมายที่จะสร้างความสุขในระยะยาว ซึ่งจะไม่ได้รับรู้ถึงผลดีหรือความสุขในวันนี้ ด้วยเหตุนี้จึงควรหาสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขในระยะสั้นด้วย เช่น อาจมีการใช้ Application ในโทรศัพท์มือถือ ที่แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินที่เราเก็บออม การแยกบัญชีตามวัตถุประสงค์การออมที่เล่ามาข้างต้น การหมั่นนำสมุดบัญชีไป Update อยู่เสมอ หลักการคือการได้เห็นความก้าวหน้าในการออมในรูปแบบยอดเงินที่เพิ่มพูนจะเป็นตัวช่วยสร้างความพึงพอใจในการออมในระยะยาว หรือการให้รางวัลกับตัวเองสักเล็กน้อยเมื่อถึงเป้าหมายหนึ่งๆที่เราตั้งไว้ ก็จะช่วยสร้างสมดุลและทำให้เราอยู่กับนิสัยใหม่ที่เราสร้างขึ้นในระยะยาว

หวังว่าผู้อ่านจะลองนำไปปรับใช้ดู ซึ่งไม่จำกัดแต่เฉพาะเรื่องของการเก็บเงินเท่านั้น สามารถนำไปใช้กับการสร้างนิสัยในการทำงาน หรือนิสัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันต่าง ๆ เพื่อเป็นคนใหม่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีครับ