posttoday

บาทผันผวน กังวลการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกยังสูง

09 มีนาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนมากต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.20-31.80 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ความกังวลของตลาดอยู่วนระดับสูง ประกอบกับเป็นช่วงที่มีสภาพคล่องต่ำ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูง โดยจำเป็นต้องติดตามการแพร่ระบาดและประสิทธิภาพของมาตรการรับมือในสหรัฐน และยุโรปอย่างใกล้ชิด

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่นจะประกาศตัวเลขสมบูรณ์ของจีดีพีไตรมาสที่ 4 ซึ่งอาจไม่ได้มีผลต่อตลาดมากนัก เนื่องจากตลาดได้ประเมินแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 ที่อ่อนแอลงมาก และญี่ปุ่นเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปก่อนแล้วเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส ประเด็นที่ต้องติดตามสำคัญอาจอยู่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ อีซีบีมีกำหนดประชุมนโยบายการเงิน ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจโลก G7ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารกลางออกแถลงการณ์ว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจโลก และเฟดประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน ทำให้ตลาดประเมินความเป็นไปได้ที่อีซีบีอาจออกมาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม การผ่อนคลายนโยบายการเงินอาจเป็นปัจจัยบวกต่อเงินยูโรและเอเชีย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทผันผวนสูงตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยตลาดเคลื่อนไหวตามความกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ เป็นหลัก ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและทำให้เงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกแข็งค่าขึ้น ยกเว้นเงินเยน เนื่องจากสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสมากขึ้น และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM) ลดลงมาที่ 50.1 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 50.5 ต่อมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแบบฉุกเฉิน 50 bps เพื่อบรรเทาผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจ มติดังกล่าวออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประชุมผู้นำของประเทศสมาชิก G7 ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก โดยเฉพาะเมื่อตลาดประเมินว่าเฟดอาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงมาอีก และอาจมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดย ADP เพิ่มขึ้น 183,000 ตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัส การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นยังสูงกว่าที่ตลาดคาดไปมาก

ขณะที่ความกังวลของผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจบรรเทาลงเมื่อสหรัฐฯ ประกาศมาตรการการคลัง เศรษฐกิจ องค์กรการเงินระหว่างประเทศประกาศวงเงินช่วยเหลือ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศที่จะร้องขอความช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเหล่านั้นอยู่ และเงินช่วยเหลือบางส่วนไม่ต้องเสียดอกเบี้ย มาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมจากที่ธนาคารกลางโลกประกาศมาตรการช่วยเหลือมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์แก่ประเทศที่ยากจนเพื่อสนับสนุนการรักษาและบรรเทาผลกระทบของไวรัส และนานาประเทศยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.420 ในวันศุกร์ ณ 16.53 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยงภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาขยายวงกว้างไปในหลายประเทศมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ เป็นผลให้ธนาคารกลางสำคัญทั่วโลกส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อลดผลกระทบของความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากแถลงการณ์ของที่ประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศกลุ่มจี-7 ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps ในการประชุมวาระฉุกเฉินมาอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% ซึ่งถือเป็นการลดดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมปกติครั้งแรกและเป็นการปรับลดมากที่สุดในครั้งเดียวตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เริ่มรายงานการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่คุณโพเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อ เนื่องจากประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างแน่นอนไปอีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับความน่าจะเป็นที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ โดยตลาดฟิวเจอร์ได้ให้ความน่าจะเป็นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 25 bps และโอกาสที่จะลดลงถึง 50 bps มีสูงถึง 82% (ณ วันที่ 6 มีนาคม 63 เวลา 16.00 น.)

ด้านธนาคารกลางอื่นๆ ก็ดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน โดยธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ส่วนธนาคารกลางมาเลเซียลดดอกเบี้ยลง 25 bps เช่นกันตามการคาดการณ์ของตลาด โดยมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสคือความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจและธนาคารกลางของฮ่องกงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50bps มาอยู่ที่ 1.50% ตามมติของเฟด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯอายุ 10 ปีที่ทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุสอดคล้องกับปัจจัยในต่างประเทศและปัจจัยในประเทศอย่างการประกาศอัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงมาอยู่ที่ 0.74% YoY ลดลงจากเดือนก่อนที่ 1.05% และน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 0.80% ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศจะกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในปีนี้ ด้วยเหตุนี้นักลงทุนต้องติดตามการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ว่าจะมีมติออกมาเป็นเช่นไร โดย ณ วันที่ 06 มีนาคม 2563

บาทผันผวน กังวลการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกยังสูง

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.81% 0.70% 0.73% 0.78% 0.84% และ 0.97% ตามลำดับ กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 12,964 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 8,285 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,679 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ