posttoday

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: การถ่ายทอดระหว่างรุ่นและผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

03 มีนาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...Asst. Prof. Md. Nasir Uddin, Ph.D. Department of Economics, American International University-Bangladesh, ผศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ได้รับความสนใจ หากเปรียบเทียบกับความเหลื่อมล้ำในรายได้ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์มีแนวโน้มลดลง การศึกษาแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในรายได้ Castello และ Domenech (2002) พบว่า ความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าความเหลื่อมล้ำในรายได้ ถึงแม้คำจำกัดความของทุนมนุษย์จะประกอบไปด้วยความสามารถและทักษะซึ่งอยู่ในตัวบุคคลจากการได้รับการศึกษา ประสบการณ์ และสุขอนามัยที่ดี แต่งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์จำนวนมากใช้จำนวนปีการศึกษาเป็นตัวแปรแทนทุนมนุษย์ เนื่องจากการได้รับการศึกษามีบทบาทสำคัญในการได้มาซึ่งองค์ประกอบอื่น ๆ ของทุนมนุษย์

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2542 งบประมาณทางการศึกษาได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวภายในหนึ่งทศวรรษ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับลดลง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จึงได้ทำการสำรวจคุณภาพโรงเรียนในประเทศไทยว่า เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำหรือไม่? ผลการสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 20 ของโรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท

การศึกษาของบิดามารดาสามารถส่งผลต่อการศึกษาของลูก (Intergenerational Transmission of Education) การศึกษาอาจถูกถ่ายทอดจากธรรมชาติ (ทางกรรมพันธุ์) จากการเลี้ยงดู หรือจากทั้งสองอย่าง การศึกษาการถ่ายทอดทุนมนุษย์ระหว่างรุ่นมีความสำคัญต่อการออกแบบนโยบายทางด้านการศึกษา Behrman และ Rosenzweig (2005) ยกตัวอย่างว่า นโยบายที่เน้นการเพิ่มการศึกษาของผู้หญิงจะไม่ส่งผลดีในระยะยาว หากอัตราการถ่ายทอดการศึกษาของมารดาต่ำกว่าบิดา

การเลี้ยงดูหรือการลงทุนกับลูกอาจแตกต่างตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบิดามารดา ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยและโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ครอบครัวขยายซึ่งสมาชิกครอบครัวจากหลายรุ่นอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป บิดามารดาจะเป็นผู้ดูแลสมาชิกครอบครัวทั้งหมดซึ่งรวมทั้งลูกและหลาน จึงอาจทำให้อัตราส่วนการลงทุนในลูกต่อรายได้น้อยกว่าและอัตราการถ่ายทอดการศึกษาแตกต่างจากในกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงและศึกษาเป็นเวลานาน ทฤษฎีความเหลื่อมล้ำกับการเติบโตทางเศรษฐกิจใช้ความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งในการอธิบาย การศึกษาส่วนใหญ่ใช้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นตัวแทนความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำทางทุนมนุษย์และผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจในช่วงหลัง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์ได้ลดลงในขณะทีมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในกรณีของหลายประเทศ ส่วนความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน

การศึกษาของ Uddin และ Sarntisart ในปี 2019 เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การถ่ายทอดระหว่างรุ่น และผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยใช้ Labor Force Survey มาคำนวณค่า Gini Coefficient ของจำนวนปีการศึกษาของทุกจังหวัด พบว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกภาคโดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ยกเว้นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลัง พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลทางลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) อย่างมีนัยสำคัญ โดยหากค่า Gini Coefficient เพิ่มขึ้น 0.01 (ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น) GPP จะลดลงประมาณร้อยละ 0.02 ในระยะยาว

Uddin และ Sarntisart ยังได้ศึกษาอัตราการถ่ายทอดการศึกษาระหว่างรุ่น โดยพบว่า ในประเทศไทยบิดามีอัตราการถ่ายทอดสูงกว่ามารดา เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงและอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่า หากพิจารณาด้านเพศ งานวิจัยพบแนวโน้มของ Reverse gender inequality เมื่อก่อนผู้ชายมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเพศ แต่ช่องว่างนี้ได้ลดลงเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันผู้หญิงกลับมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายแล้ว

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างการศึกษาภาคบังคับหรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การดำเนินนโยบายการศึกษาที่มีลักษณะแบบเจาะจงเป้าหมาย (Targeted Education Policy) ควบคู่ไปด้วยจะช่วยให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างประเทศบังคลาเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการศึกษาที่พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง เนื่องจากพบว่ามารดามีอัตราการถ่ายทอดการศึกษาระหว่างรุ่นสูงกว่าบิดา ดังนั้น จากผลการศึกษาที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ประเทศไทยจึงอาจออกแบบนโยบายส่งเสริมการศึกษาที่พุ่งเป้าไปที่ผู้ชายจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบทครับ