posttoday

มรสุมเศรษฐกิจไทยปี 2562 ถึง 2563

25 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยเผชิญมรสุมจากปัจจัยเสี่ยง และข่าวร้ายที่ทยอยมาอย่างต่อเนื่อง ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง ปัญหาความยืดเยื้อในกระบวนการพิจารณางบประมาณแผ่นดินปี 2563 ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าของการเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณและจำกัดศักยภาพของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลัง และล่าสุดปัญหาการระบาดของ Coronavirus Covid-19 ซึ่งส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้ผมจะกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ท่ามกลางมรสุมเหล่านี้ครับ

ก่อนที่จะกล่าวถึงมรสุมในปี 2563 ผมจะกล่าวถึงมรสุมของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ไทยได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้มูลค่าการค้าโลกชะลอตัว ซึ่งทำให้การส่งออกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 2561 ที่เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 4.1

แม้ว่า สงครามการค้าที่ผ่านมา จะส่งผลในวงกว้างต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย และกลุ่มอาเซียน ซึ่งล้วนแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นกลไกหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร เนื่องจากไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ของไทยในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 12.4 เทียบกับประเทศอินโดนีเซียและพิลิปปินส์ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 6.1 และ 5.3 ตามลำดับ ซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนเพื่อชดเชยการลดลงของการส่งออกทำได้จำกัด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนประชากรในวันทำงานที่สูงจะสามารถเพิ่มการบริโภคในประเทศชดเชยการลดลงของการส่งออก

สอง ปัญหาเสถียรภาพการเมือง และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและข้อกำกัดด้านจำนวนกำลังแรงงานตามการเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนของไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.2 ซึ่งทำให้เวียดนามได้รับผลบวกจากการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนจากประเทศจีน ในช่วงสงครามการค้า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเวียดนามยังคงขยายตัวได้ดี โดยการลงทุนนอกจากจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในการพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างศักยภาพการผลิตในอนาคตของประเทศ

สาม นโยบายการคลัง ที่ผ่านมาในปี 2562 มีประสิทธิผลต่ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการที่สำคัญที่ถูกกล่าวถึงโดยทั่วไปได้แก่ ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชน มีผลในการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนไม่มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ ความล่าช้าในกระบวนการพิจารณา พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้า และจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2563

เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปี 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.75 ในช่วงครึ่งแรกของปี เป็น 1.50 ในเดือนกรกฎาคม และ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 1.25 ในช่วงสิ้นปี 2562 และได้มีการปรับลดเพิ่มเติมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 1.00 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2543 ตามกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน คาดว่าผลของการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งที่ผ่านมาจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี

แม้ว่าในช่วงสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกจะมีข่าวดีจากข้อตกลงการค้าเบื้องต้นระหว่างสหรัฐ-จีน และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจโลกแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว และน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2563 โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายงาน World Economic Outlook ของ IMF คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.3 ดีขึ้นจากอัตราร้อยละ 2.9 ในปี 2562 ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 4 และน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2563 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ประการ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากข่าวร้ายทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงข้างต้น ปัจจัยที่มีผลรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจเห็นจะหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของ Coronavirus Covid-19 ในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการพึ่งพารายรับจากการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นอกจากผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแล้ว การลดลงของการบริโภคในประเทศจากการลดลงของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากความกลัวต่อการแพร่ระบาด นอกจากนี้ การส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศในเอเชีย และการติดขัดในอุปทานของสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับฐานการผลิตในประเทศจีน ก็เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2563

จากการพยากรณ์ล่าสุดโดยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผมคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 น่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 1.9 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายขอบล่างของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น ผมคาดว่าน่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายการเงินลงอีก 1 ครั้งในเดือนมีนาคมหรือพฤษภาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งควรจับตามองตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน มค ถึง กลางเดือน มีค เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดัชนีนี้นำการบริโภคภาคเอกชน การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ตัวเลขผลกระทบจากปัญหาการระบาดของ Coronavirus Covid-19 ยังมีอยู่จำกัด ทำให้การประเมินผลกระทบอย่างชัดเจนทำได้ยาก หากมีข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต ผมจะกล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาการระบาดของไวรัส เพิ่มเติมในโอกาสต่อไปครับ