posttoday

ค่าบาทติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

24 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 31.40-32.00 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาคาดว่าจะยังคงกำหนดทิศทางของตลาดการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนและเอเชีย

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ กระทรวงพาณิชย์ไทยจะประกาศตัวเลขส่งออกและนำเข้าในเดือนมกราคมซึ่งคาดว่าจะอ่อนแอต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากการเหลือมวันหยุดในเทศกาลหยุดจีน และในวันศุกร์ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด ตลาดคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือนมกราคมอาจขาดดุลเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงที่จะกดดันเงินบาทให้อ่อนค่ามากขึ้นได้

ด้านทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ความเห็นของสมาชิกเฟดจะต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นความกังวลต่อตลาดการเงินโลกได้ ในเอเชีย ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะประชุมนโยบายการเงิน โดยปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยูในระดับต่ำที่ 1.25% แต่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ต่อจีนที่สูง อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15 – 31.70 โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงต้นสัปดาห์หลังจากการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4 เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ 1.6% YoY โดยชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.6% YoY (ปรับปรุงเพิ่มขึ้นจาก 2.4%YoY) และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.9% YoY โดยปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้า สะท้อนในการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึง 5.1% YoY (ก่อนหน้า +3.7%) การส่งออกสินค้าหดตัวสูงที่ 5.1%YoY (ก่อนหน้า -0.1%) จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าผ่านห่วงโซ่การผลิตของจีน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง โดยขยายตัว 4.1% YoY (ก่อนหน้า 4.3%) และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น โดยขยายตัว 2.6% YoY (ก่อนหน้า 2.3%) เนื่องจากมีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารในภาคบริการและขนส่ง โดยทั้งปี 2019 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4% จาก 4 .1% ในปี 2018

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2020 สศช. ประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% (ค่ากลาง 2.0%) นอกจากนี้ เงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับค่าเงินสกุลเอเชียอื่นๆ ตามความกังวลของตลาดเงินต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงรวดเร็วแตะระดับอ่อนค่าที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 ในช่วงปลายสัปดาห์จากแนวโน้มผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนตามความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่สูง ส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.65 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการที่นักลงทุนอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง ภายหลังจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ในหลายประเทศส่งสัญญาณว่าการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยจีดีพีญี่ปุ่นเบื้องต้นในไตรมาสที่ 4 หดตัวถึง 6.3%QoQ ต่อปี เป็นการหดตัวที่มากที่สุดตั้งแต่กลางปี 2014 และมากกว่าที่ตลาดประเมินไปมากที่ -3.8% โดยสาเหตุหลักมาจากการขึ้นภาษีขายและไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคธุรกิจหดตัวสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยมีการประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 4 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่ 1.6%YoY (0.2%QoQ sa) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.6%YoY (ปรับปรุงเพิ่มขึ้นจาก 2.4%YoY) และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.9%YoY โดยปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้า ผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าผ่านห่วงโซ่การผลิตของจีน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง

โดยทั้งปี 2019 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4% จาก 4.1% ในปี 2018 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2020 สศช. ประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวสำคัญจากภาคต่างประเทศ ทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวไทย และปริมาณการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.5% จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.4% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว 3.5% ชะลอลงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.7% และการลงทุนรวมมีแนวโน้มขยายตัว 3.6% จาก 2.2% ในปีก่อนตามการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้น

นอกจากนี้ความกังวลต่อผลกระทบของโคโรนาไวรัสยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในขณะนี้ โดยไอเอ็มเอฟส่งสัญญาณว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางการท่องเที่ยวและการคมนาคม แต่ยังคงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทั้งหมด ทั้งนี้มีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตนอกจีนมากขึ้นและองค์การอนามัยโลกเตือนว่าประเทศที่ไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอาจพบการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนยังคงเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและพันธบัตรรัฐบาล ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.94% 0.85% 0.86% 0.91% 0.97% และ 1.08% ตามลำดับ

ค่าบาทติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,294 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,011 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,289 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 16 ล้านบาท