posttoday

2 สาเหตุทำฝันสลาย เงินไม่พอใช้ยามเกษียณ

20 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ในปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณกันมากขึ้น อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีเครื่องมือการออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น โดยพนักงานเอกชนจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนข้าราชการก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แต่ยังมีคนจำนวนมากที่อาจขาดความเข้าใจเรื่องการจัดการเงินลงทุนส่วนนี้ ซึ่งจะทำให้การเตรียมเงินเพื่อการเกษียณยังขาดประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยจาก Wharton Pension Research Council ซึ่งเป็นองค์กรศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโครงการบำนาญและประกันสังคมทั่วโลก* ได้อธิบายถึงเรื่องปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งในวัยเกษียณ 2 ประการดังนี้

(1) ความไม่รู้ทางการเงิน คือการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน เช่น เรื่องเงินเฟ้อ การคำนวณอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อ การคำนวณดอกเบี้ยทบต้น ความไม่เข้าใจเรื่องความเสี่ยงของสินทรัพย์ลงทุน เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ทำให้มีการตัดสินใจทางการเงินที่ขาดประสิทธิภาพ ตัวอย่าง ผู้ที่เก็บออมเพื่อการเกษียณเลือกลงทุนในกองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากไม่เข้าใจแนวคิดของดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) ทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณของตนเองในระยะยาวที่อาจทำให้มีเงินไม่เพียงพอเพื่อวัยเกษียณ การศึกษาหาความรู้และพัฒนาทักษะด้านการเงินมากขึ้น จะทำให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ดีขึ้น โดยพนักงานเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรเลือกการลงทุนที่มีรูปแบบเหมาะสมกับตนเอง โดยอาจเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนที่เป็นตราสารทุนให้มากเมื่ออายุยังน้อยและลดสัดส่วนตราสารทุนลงเมื่ออายุมากขึ้น เพื่อเป็นการบริหารผลตอบแทนให้มีเงินเพียงพอในวัยเกษียณและเป็นการจัดการความเสี่ยงของการลงทุน

สำหรับสมาชิก กบข. แนะนำให้ศึกษาแผนการลงทุนต่าง ๆ ที่ทาง กบข. มีให้สมาชิกเลือก ในกรณีที่สมาชิกคาดหวังผลตอบแทนมากขึ้นอาจเปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนหลักเป็นแผนผสมหุ้นทวี แต่ถ้าสมาชิกมีอายุใกล้วัยเกษียณและต้องการลดความผันผวนจากการลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนในแผนตราสารหนี้หรือแผนตลาดเงิน ส่วนสมาชิกที่ต้องการให้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนแบบอัตโนมัติ โดยลงทุนในตราสารทุนมากในช่วงที่อายุน้อย และปรับลดสัดส่วนตราสารทุนลงเมื่อมีอายุมากขึ้น แนะนำให้เลือกแผนสมดุลตามอายุ ทั้งนี้ควรทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ (2) การขาดความอดทนอดกลั้น คือ การที่คนเรามักเลือกที่จะตอบสนองความต้องการของตนเองในปัจจุบัน แทนที่จะอดทนรอเพื่อประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าในอนาคต โดยพฤติกรรมแบบนี้จะส่งผลโดยตรงเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเงิน เช่น เมื่อได้รับเงินมาเราจะมีทางเลือก 2 ทาง คือ ใช้เงินเพื่อความสุขในวันนี้ หรือเก็บออมเพื่ออนาคต โดยหลายคนมีแนวโน้มที่จะเลือกจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อความสุขในทันที โดยไม่คำนึงถึงการเก็บออมเพื่ออนาคต

วิธีจัดการกับพฤติกรรมเหล่านี้ทำได้ด้วยการ “สร้างระบบการออมเงินแบบอัตโนมัติ” สำหรับพนักงานเอกชนควรเพิ่มเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้นกว่าขั้นต่ำที่กองทุนกำหนด ส่วนข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. แนะนำให้เพิ่มจำนวนเงินออมกับ กบข. เป็นจำนวนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยไม่กระทบกับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน โดยที่สมาชิกสามารถนำส่งเงินออมเพิ่มได้ตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึง 12 ของเงินเดือน ด้วยวิธีการดังนี้เป็นการสร้างระบบมาบังคับให้เราต้องมีวินัย ถือได้ว่าเป็นการออมก่อนใช้ (Pay Yourself First) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการบริหารเงินนั่นเอง โดยสรุป สิ่งที่เราได้จากงานวิจัยนี้คือ

1.) ควรพัฒนาความรู้ทางการเงินอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจด้านการออมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้น และสามารถบริหารการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเองได้

2.) มีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเลือกใช้วิธีการตัดออมลงทุนแบบอัตโนมัติ หรือการออมเพิ่มในส่วนของสมาชิก กบข.หากทำได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณได้มากขึ้น

*งานวิจัยเรื่อง How Financial Literacy and Impatience Shape Retirement Wealth and Investment Behaviors ของศาสตราจารย์ Justine Hastings และ Olivia Mitchell