posttoday

เมื่อนาฬิกา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเวลา

19 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...K-Expert บุษยพรรณ วัชรนาคา ที่ปรึกษาการเงินธนาคารกสิกรไทย

วันนี้ สิ่งที่คุณสวมใส่อยู่บนข้อมือ กำลังบอกอะไรกับคุณบ้าง? คุณกำลังใส่นาฬิกาที่ทำหน้าที่บอกเวลา หรือนาฬิกาที่คอยบอกว่าวันนี้คุณเดินไปกี่ก้าว ใจเต้นด้วยอัตราเท่าไหร่?

สังเกตกันไหมว่า ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ เจ้านาฬิกาแสนฉลาด หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ Smart Watch กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่เฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ยังรวมถึงคนรุ่นใหญ่ที่ห่วงใยสุขภาพ ลองไปดูกันสักนิดว่า การเข้ามาของ Smart Wearable Devices วันนี้ เติบโตแค่ไหน แล้วอีกหน่อย จะมีอะไรมากระทบกับเราบ้าง

ตลาด Smart Wearable Devices มีอะไรน่าสนใจบ้าง

เวลาพูดถึง Smart Wearable Devices หลายคนมักจะนึกถึง Wristband หรือ Smart Watch ที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ แต่ในปัจจุบัน อุปกรณ์เหล่านี้ ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ear Wear ที่นอกจากใช้ฟังเพลงหรือรับโทรศัพท์แล้ว ยังถูกพัฒนาให้สามารถวัดอุณหภูมิในร่างกายได้ด้วย ชุดชั้นในที่ใช้วัดคลื่นหัวใจและตรวจจับมะเร็ง หรือแม้แต่รองเท้าที่ช่วยวัดการลงนํ้าหนักในการเดิน

จากตัวเลขของสถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐ หรือ IDC คาดว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ สูงถึง 22.4% ต่อปี จาก 305 ล้านชิ้นในปี 2019 เป็น 489 ล้านชิ้นในปี 2023 โดยมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Apple, Xiaomi, Hauwei, Samsung และ Fitbit ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันทั้งหมดกว่า 64% (ที่มา: IDC)

เมื่อนาฬิกา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเวลา

เหตุผลที่ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็คงหนีไม่พ้นกระแสการหันมาใส่ใจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การวิ่งหรือออกกำลังกายที่ฟิตเนส การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เล็งเห็นโอกาสนี้ และลงทุนข้ามมายังอุตสาหกรรม Healthcare ก็เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรได้มากขึ้น ในราคาที่ถูกลง

สิ่งที่ตามมาจากการมีผู้ใช้เจ้า Smart Wearable Devices เหล่านี้เป็นจำนวนมาก คือ ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย หรือแม้แต่พฤติกรรมการเข้านอน

ต่อยอดจากการเป็น Smart Wearable Devices

หลายองค์กรได้พัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้นอกเหนือไปจากการแสดงผลทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังหรือเด็ก เช่น มีการตรวจจับการหกล้ม ฟังก์ชั่นสายด่วนไปยังโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเป็นนาฬิกาที่ใช้บอกตำแหน่งเมื่อเกิดการพลัดหลง เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย บริษัทโพโมะ เฮ้าส์ จำกัด เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้สร้างนาฬิกาอัจฉริยะป้องกันเด็กหาย หรือ โพโมะ วาฟเฟิล สามารถติดตามตำแหน่งที่เด็กอยู่ หรือถ้าพลัดหลงเมื่อไปต่างประเทศ ก็สามารถส่ง Voice Call ได้

นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลด้านสุขภาพนี้ยังเริ่มถูกใช้ในบริษัทประกันหลายแห่ง เช่น John Hancock ที่เปิดทางเลือกให้ผู้เอาประกัน สามารถแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการออกกำลังกาย การนัดพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ หรือแม้แต่การเรียนรู้ออนไลน์ด้านสารอาหาร เพื่อรับส่วนลดค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น

เพียง Smart Wearable Devices พอไหม กับการดูแลและรับมือด้านสุขภาพ

หากมองกันในมุมเครื่องมือช่วย Track ค่าต่างๆ ทางด้านสุขภาพ อุปกรณ์เหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เราหันมาใส่ใจร่างกาย อย่างน้อยจากเดิมที่ไม่เคยรู้ว่าวันหนึ่งๆ ตัวเองเดินมากน้อยแค่ไหน หรือเดือนหนึ่งๆ ออกกำลังกายถี่เพียงใด

สิ่งที่อยากจะฝากให้คิดต่อกันอีกนิดคือ หลายคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ เพื่อมาเป็นเครื่องมือช่วยดูแลและติดตามสุขภาพให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม ถือว่าดีในมุมการป้องกัน ตรงกันข้าม ในมุมการรับมือ หากร่างกายเกิดเกเร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณเต็มใจหรือเตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไว้มากน้อยแค่ไหน?

จากข้อมูลยอดเบี้ยประกันสุขภาพของไทยในปี 2561 เติบโต 11% มียอดเบี้ยรวม 8.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนกรมธรรม์กว่า 4 ล้านฉบับ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมดแล้ว พบว่ามีคนไทยเพียง 7% เท่านั้นที่มีประกันสุขภาพ

เมื่อนาฬิกา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเวลา

ส่วนภาพรวมของค่ารักษาพยาบาล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปรียบเทียบข้อมูลค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในกรณีรักษาไข้หวัด ค่ารักษาของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 500-800 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ในขณะที่โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ค่ารักษาของโรงพยาบาลรัฐอยู่ราว 90,000-160,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้นอยู่ที่ 165,000-422,000 บาท

เมื่อนาฬิกา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเวลา

ค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ถ้าเกิด ก็มากพอที่จะบั่นทอนเงินเก็บของคุณได้ หากไม่มี “ประกันสุขภาพ” (คลิก)รองรับในขณะที่เรากำลังอ้าแขนโอบรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาและช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพด้วยจำนวนเงินหลักพันถึงหมื่นมาไว้ที่ข้อมือ ก็อย่าละเลยที่จะกลับไปทบทวนดูอีกทีว่า วันนี้คุณได้เตรียมพร้อมรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นไว้มากน้อยแค่ไหน

ขอกลับไปถามประโยคเดิมอีกครั้ง

สิ่งที่คุณสวมใส่อยู่บนข้อมือ กำลังบอกอะไรกับคุณบ้าง?