posttoday

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

10 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 31.00-31.50 ประเมินว่าตลาดจะยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป แม้ว่าจะประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกน้อยลง ในช่วงต้นสัปดาห์ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ คาดว่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินสกุลในเอเชีย ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้รับอิทธิพลมากนัก เนื่องจากในวันจันทร์ตลาดปิดทำการ ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ คาดว่าตลาดจะรอการประกาศตัวเลขจีดีพีของเยอรมนีและสหราชอาณาจักรด้วย ส่วนของสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดค้าปลีก โดยสถานการณ์สำคัญ คือ นายเจอโรม โพเวล ประธานเฟดมีแถลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ครึ่งปีต่อวุฒิสภา และจีนมีกำหนดลดอัตราภาษีนำเข้าให้สินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บไปเมื่อเดือนกันยายนมูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงครึ่งหนึ่งในวันศุกร์นี้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทผันผวนอย่างมากตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากตลาดจีนกลับมาเปิดทำการเป็นวันแรกหลังจากหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้เป็นวันแรกที่ตลาดตอบสนองต่อประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เริ่มต้นจากจีนได้โดยตรง ทำให้นักลงทุนที่ใช้เงินบาทเป็นตัวแทนเงินหยวนถอนออกไป

ในช่วงกลางสัปดาห์ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.00% และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากประเมินว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศอันประกอบด้วยการระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้า และภัยแล้ง ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเร็วก่อนที่จะมีการขายทำกำไรออกมาในชั่วโมงต่อมา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกต่อตลาดโดยรวมเนื่องจากจีนประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มสินค้ามูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลดภาษีนำเข้าตอบรับกับการผ่อนคลายมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ในรอบเดือนธันวาคม โดยจะเป็นการลดภาษีที่จีนกำหนดกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายนครอบคลุมสินค้า 1,717 รายการ รวมถึงส่วนประกอบยานยนต์ ทำให้อัตราภาษีลดลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เหลือ 5% และจาก 5% เหลือ 2.5% แต่เงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ยังคงอ่อนค่าเนื่องจากมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในวันศุกร์ เงินบาทอ่อนค่าลง แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. งบประมาณไม่เป็นโมฆะ แต่มีมติให้สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติในวาระ 2 และ 3 ใหม่อีกครั้ง ทำให้การบังคับใช้งบประมาณปี 2020 มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอบย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในนโยบายการเงินของประเทศเอเชียอื่นๆ ธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repo) อายุ 7 วันและ 14 วันลงอย่างละ 10 bps มาอยู่ที่ระดับ 2.40% และ 2.55% ตามลำดับ รวมถึงอัดฉัดสภาพคล่องมูลค่า 1.2 ล้านล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อระบบเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจ ด้านธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps มาอยู่ที่ 3.75% และส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ และธนาคารกลางอินเดียและออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.15% และที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด ตามลำดับ

ตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาไฮไลท์สำคัญสำหรับตลาดตราสารหนี้คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.00% และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25% โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ประกอบด้วยผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และปัญหาภัยแล้ง โดยต่อจากนี้คงต้องติดตามว่าทางภาครัฐจะมีนโยบายการคลังเข้ามาสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบไหน เพราะหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกก็ดูเปิดกว้างอยู่เช่นกัน นอกจากนี้มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมกราคมเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.05%YoY มากกว่าเดือนก่อนที่ 0.87%YoY จากราคาอาหารอันเนื่องมาจากความต้องการที่สูงในช่วงเทศกาลตรุษจีนและราคาพลังงานเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์จะกลับมาต่ำลง โดยความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงตลอดช่วงอายุ โดย ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.00% 0.94% 0.98% 1.06% 1.14% และ 1.23% ตามลำดับ

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างประเทศมีการประกาศตัวเลขของทางสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้หลายตัว ทั้งจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมกราคมอยู่ที่ 99.8 เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดือนก่อนและมากกว่าที่ตลาดคาดที่ 99.3 และ 99.1 ตามลำดับ ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM) ที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับ 50.9 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเดือนก่อนและมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 47.8 และ 48.5 ตามลำดับ ต่อด้วยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ADP ของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น 291,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 และมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้เกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการที่จีนประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มสินค้ามูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้า 1,717 รายการ รวมถึงส่วนประกอบยานยนต์ ทำให้อัตราภาษีลดลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เหลือ 5% และจาก 5% เหลือ 2.5% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขดังกล่าวกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,522 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 5 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,399 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 118 ล้านบาท