posttoday

การลงทุนในยุคเปลี่ยนผ่าน (ตอนที่ 1 )

30 มกราคม 2563

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง โดย... วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง

ปกติแล้วในช่วงสิ้นปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องมองไปข้างหน้าเพื่อการลงทุน และก็เป็นปกติที่ข้าพเจ้าจะไม่เคยทำนายดัชนีหุ้นไทย เพราะว่าทำนายไปก็ขี้เกียจมาแก้ตัวภายหลัง เนื่องจากในระยะสั้นนั้นดัชนีตลาดหุ้นมิได้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐาน แต่จะถูกผลักดันด้วยอารมณ์ของผู้ลงทุนมากกว่า และข้าพเจ้ามิได้โฟกัสการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ดังนั้น จึงต้องมองเมกะเทรนด์ เป็นหลักใหญ่ไว้ก่อน เพื่อให้เรามองเห็นภาพข้างหน้าในระยะยาวๆ 5 ปีขึ้นไป

เมกะเทรนด์

• สังคมทั่วโลก เกิดน้อย แก่นาน

• เทคโนโลยีใหม่ส่งผลต่อกระบวนการผลิต การจ้างงาน และการดำเนินชีวิต

• กระแสเรียกร้องด้านความยั่งยืน

• Urbanization

• กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ทุนนิยม และนโยบายตัวใครตัวมัน

เมื่อพิจารณาเมกะเทรนด์แล้ว ก็จะพอได้ภาพว่า Sector ไหนจะได้ประโยชน์ Sector ไหนจะเสียประโยชน์ถ้าปรับเปลี่ยนไม่ทัน ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงเพราะมีหลายท่านวิเคราะห์เอาไว้แล้ว แต่อยากโฟกัสภาพรวมในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า

Short-Term Negative Factors (1-2 ปี)

• สงครามการค้า สหรัฐฯ จีน

• ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน

• เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงไปเรื่อยๆ ทั้งจากเทคโนโลยีใหม่ที่แม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง + และ - แต่การ “เกิดน้อย แก่นาน” ก็ทำให้กำลังแรงงานลดลง คนแก่บริโภคน้อยลงและไม่ค่อยสร้างผลผลิตใหม่ ในขณะที่คนหนุ่มสาวยังมีหนี้สูง ทำให้ส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภค

• ความกดดันจากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ ปีนี้ ปีหน้า ที่ลดลงไปเรื่อยๆ

• นโยบายการเงินโลกจะคงดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถขึ้นได้ มีแต่จะลง เพราะ ... - เงินเฟ้อจะต่ำยาวนาน เนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกตกต่ำ

- หนี้ทั่วโลกสูงขึ้น จะขึ้นดอกเบี้ยก็กระทบภาระทางการเงินของครัวเรือนและหนี้ภาครัฐ

- ตลาดการเงินโลกเสพติดสภาพคล่องไปแล้ว เมื่อทางการประเทศไหนๆ ทำท่าจะถอนสภาพคล่อง ตลาดการเงินจะปั่นป่วน ทำให้ธนาคารกลางที่ถูกกดดันโดยรัฐบาลจะไม่กล้าถอนสภาพคล่อง

• เมื่อนโยบายการเงินหมดกระสุนก็ต้องพึ่งนโยบายการคลังมากขึ้น โดย ...

- รัฐจะใช้จ่ายมากขึ้น จะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยี เกิดขึ้น ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่ผลตอบแทนพันธบัตรจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก เพราะคนยังต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล

- นโยบาย Quick Win อย่าง ชิม ช็อป ใช้ หรือรูปแบบอื่นจะเกิดขึ้นอีก เพื่อใช้หล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ

- คาดว่าผลที่ตามมาจากสองเรื่องนี้คือ “ภาษี” ในรูปแบบต่างๆ น่าจะเพิ่มขึ้น

Short-Term Positive Factors (1-2 ปี)

• สภาพคล่องยังล้นโลก

• ธนาคารกลางต่างๆ ยังมีทีท่าที่จะอุ้มเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและ Abnormal ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำและติดลบ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องแบบ QE หรือภายใต้ชื่ออื่น

• เมื่อดอกเบี้ยต่ำ สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น จึงอาจได้รับอานิสงส์ แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่คงเป็นช่วงสั้นๆ เพราะยังต้องปรับตัวจาก Megatrend ที่กล่าวถึงในตอนต้น

สรุปผลสำหรับปี 2563

ภาวะอย่างนี้คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ค้าขายกันน้อย สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาถูก กับผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน เป็นผลมาหลายปัจจัยโดยเฉพาะ “เกิดน้อย แก่นาน” ที่จะทำให้ทั้งความต้องการจับจ่ายใช้สอย และกำลังแรงงาน กำลังซื้อ ลดลง นี่คือ New normal ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน จนกลายเป็น Normal เพราะนโยบายการเงินทั่วโลกที่ Abnormal

ที่สำคัญคือ โลกจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ จากนโยบายการเงินที่จะกลับมาอัดฉีดขนานใหญ่ จนนำไปสู่การเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง นำมาซึ่งภาวะฟองสบู่แตก และทำให้ผู้คนทั่วโลกมองว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า” กันมากขึ้นทุกที

คำถามก็คือ แล้วนี่คือ End Cycle ? จะเป็น Bear Market ในปีนี้หรือไม่ ? … แล้วจะลงทุนอย่างไร

โปรดติดตามตอนจบ ในสัปดาห์หน้า