posttoday

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 : จบจริงหรือ ประวิงเวลา

27 มกราคม 2563

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

เรื่อง ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 : จบจริงหรือ ประวิงเวลา

โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

................................................................................................

ก้าวเข้าปีใหม่มาไม่ทันไร ปัจจัยลบที่ไม่มีใครคาดคิดก็เขย่าตลาดการเงินทั่วโลก จากการที่สหรัฐฯ ได้ใช้โดรนโจมตีนายพลกัสซิ โซเลมานี ผู้นำกองทัพคนสำคัญของอิหร่าน ก่อให้เกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมัน ทองคำ และตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นทันที โดยทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ต่างแถลงตอบโต้กันอย่างรุนแรงในช่วงแรก แม้ล่าสุดทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ลดความขัดแย้งลงแต่เราก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากในอดีตประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางมักจะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน และหลายครั้งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี โมเมนตัมของตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เมื่อการลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก (Economic and Trade Agreement between the United States of America and the People’s Republic of China – Phase 1) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือ Trade Deal Phase I ได้รับการลงนาม ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซี่งความตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจการค้าสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายโอนเทคโนโลยีการขยายการค้า การค้าสินค้าเกษตรและอาหาร บริการทางการเงิน นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการดำเนินการระงับข้อพิพาท

แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงเฟส 1 แล้วนั้น เรายังเชื่อว่าความเสี่ยงประเด็นสงครามการค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางตลาดการเงินในปี 2563 ซึ่งเราได้วิเคราะห์ภายใต้สมมติฐานต่างๆ (Scenario Analysis) เรามีมุมมองหลัก (Base Case) ว่าการเจรจาจะมีต่อเนื่องแต่กำแพงภาษีจะไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากที่ตกลงกันในเฟส 1 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีแรกจะถูกชี้นำโดยปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงพฤติกรรมการมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ของนักลงทุน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เป็นหลัก แต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2563 ประเด็นสงครามการค้าอาจถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนและเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องกระบวนการถอดถอน (Impeachment) ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนและอาจมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ได้

โดยหากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีผลลัพธ์ออกไปในเชิงบวก (Best Case) เช่น การเจรจาการค้าเฟส 2 มีความคืบหน้าเร็วกว่าที่ตลาดคาดหรือกำแพงภาษีปรับลดลง เป็นต้น เรามองว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่ลดลงจะช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น ขณะที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา อย่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และยุโรปจะมีการฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้นและอาจเกิดการไหลออกของเงินลงทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้

แต่หากการเจรจาการค้าออกมาไปในทิศทางลบ (Worst Case) เช่น สหรัฐฯ และ/หรือ จีนไม่ดำเนินการตามข้อตกลงในเฟส 1 เป็นต้น รัฐบาลและธนาคารกลางจะต้องเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนสินทรัพย์ปลอดภัยโดยภาพรวมต่อไป

ดังนั้น การลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 จึงยังไม่ใช้ข้อยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เนื่องจากยังมีปัญหาข้อพิพาทอีกหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไขต่อไป เช่น กรณีรัฐบาลจีนอุดหนุนทางการเงินให้กับรัฐวิสาหกิจจีน การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับความมั่นคง

จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะปานกลางและหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบนะครับ