posttoday

ทำไมเวลานี้ถ้าคิดจะทำอะไร.. ไม่ทำช้าไปก็ทำน้อยไป มันทำไมไม่พอดี

27 มกราคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 4/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 4/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความวันนี้ก็อยากจะสะท้อนเสียงที่ส่งกันออกมาทั้งจากผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ผู้คนที่เป็นตัวสาเหตุให้เกิดผลกระทบ ผู้คนที่ทำธุรกิจ ผู้คนที่ออกกฎ กติกา มารยาทในเรื่องใดๆ ที่ให้ทำตาม ตลอดรวมไปถึงเรื่องที่ห้ามไม่ให้กระทำ ผู้เขียนได้เข้าไปรับฟังจากท่านๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องแต่ออกความเห็น ก็พบว่าหากมีการแบ่งความเห็นของแต่ละฝ่ายออกมาแล้วก็จะพบกับคำว่า

มันไม่ลงตัวบ้าง

มันเกาไม่ถูกที่คันบ้าง

มันไม่ขาดไป ก็เกินไป หรือไม่ก็ช้าเกินไป

หรือมันเป็นมาตรการที่ทำน้อยไปบ้าง

ตัวอย่างเช่น

1. เรื่องฝุ่นละออง ไอ้คนที่ทำให้เกิดก็ไม่ใส่ใจ รถเก่าก็จะใช้ ควันออกมาก็บอกไม่เป็นไร อ้างสารพัด พอคนในครอบครัวบุตรหลานต้องได้รับผลกระทบก็จะแสดงความไม่พอใจภาครัฐว่าไม่เอาจริง ไม่จับปรับยึดรถต้นเหตุ แต่พอรถตัวเองโดนมาตรการป้องกันบ้างก็บอกว่าภาครัฐใช้กฎหมายเข้มไป รังแกคนทำมาหากิน แล้วพอวันเวลาผ่านไปก็ลืม กันไป ปีหน้าเวลาเดิมก็คงจะมาถกเถียงกันใหม่ มันเหมือนใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองบนหน้าตนเองที่ใส่หน้ากากความไม่จริงใจและเห็นแก่ตัวของตัวตนเราอีกชั้นหนึ่ง เวลานี้ในแง่ของสุขอนามัยผู้คน ทั้งอาหาร น้ำ และอากาศ มันกลายเป็นสภาพที่สร้างความเหลื่อมล้ำ คนมีฐานะสามารถเข้าถึง ป้องกัน รักษา และเก็บกักเอาไว้ได้ แต่คนที่มีฐานะน้อยถึงน้อยมาก ต้องรับเอาผลกระทบเต็มๆ ไม่ช้าไม่นานเกินช่วงชีวิตคนมันจะสร้างแรงสะท้อนกลับอย่างคาดไม่ถึง

2. การออกมาตรการมาสกัดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือมาตรการ LTV สยบยุทธภพ ผู้เขียนพบว่า

2.1 คนออกมาตรการเขาก็หวังดีว่า

(1) ที่ผ่านมามันมีพฤติกรรมสินเชื่อเงินทอน ราคาเกินจริง มีการเก็งกำไร มีการสร้างหลักสูตรเรียนกันเลยเรื่องการขอเงินกู้มาลงทุนในสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์แล้วบริหารผลตอบแทน

(2) มันไปกระทบกับคนที่อยากมีที่อยู่อาศัยสัญญาแรก หรือบ้านหลังแรก เพราะมันจะทำให้ต้องเป็นหนี้เพิ่มในการได้มาซึ่งบ้านบนราคาที่มีผลมาจากการเก็งกำไร

2.2 คนที่ทำสินค้าที่อยู่อาศัยแบบต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเหตุเพราะลูกค้าที่ซื้ออยู่จริง ลูกค้าที่ซื้อลงทุน ลูกค้าที่ซื้อเก็งกำไร และผู้ลงทุนต่างชาติ ต่างก็มีปัจจัยในการตัดสินใจต่างกัน แต่ถ้าไปกู้เงินมาซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ได้ยากแล้วก็แทบจะจบข่าว ท่านเหล่านั้นก็ต้องแปลงกายเป็นนักร้อง ร้องแบบขอให้เหมือนเดิม ร้องแบบใจโทรมๆ ร้องแบบนานเท่าไหร่ก็รอ หรือร้องแบบจะตายให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งผู้เขียนเวลาฟังเพลงเหล่านั้นแล้วก็ต้องขอดูงบการเงินปี 2562 ของกิจการเหล่านั้นประกอบด้วยว่า ความจริงในงบที่แสดงกับเพลงที่กำลังร้องมันไปด้วยกันมั้ย เพื่อมิให้ตัวเองต้องร้องเพลงรู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

2.3 คนที่ทำหน้าที่ตัวกลางในการเอาเงินกู้ใส่มือคนอยากมีบ้าน ไปซื้อของจากคนทำบ้านหรือที่อยู่อาศัยขาย แล้วคนกู้ก็ได้เข้าไปอยู่ แล้วก็ค่อยๆ ทยอยผ่อนชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยให้คนปล่อยกู้ ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้ก็เอาไปลงบัญชีเป็นรายได้ ทีนี้ถ้าดอกเบี้ยเก็บไม่ได้ ต้นเงินอาจจะไม่ได้คืน ความเลวร้ายยุ่งยากก็จะตามมา สิ่งที่ฟ้องคือตัวเลขหนี้เสีย หนี้ค้างชำระมันเพิ่มสูงขึ้น ต่อเนื่อง ไม่ลดลง ความเข้มงวดก็ต้องเพิ่ม ที่สุดก็ตึงขึ้น ตึงขึ้น ตามลำดับ ก็ไม่รู้ว่ามันจะไปขาดผึง หรือหย่อนลง เดือนไหนในปี 2563

สุดท้ายของสุดท้าย ของบทความในวันนี้ ผู้เขียนคิดว่ามันมี 2 คำที่อาจทำให้เกิดความไม่ลงล็อคในการดำเนินไปให้ราบรื่น สองคำนั้นคือ Cost of face กับ Cost of fund คนบางกลุ่มที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกำไรในภาคธุรกิจ ชั่วชีวิตดูแต่รายงาน ตัวเลข ไม่เคยตัดสินใจให้ใครกู้เงินได้-ไม่ได้ เคยแต่ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม แสดงบทบาทในเวทีงานต่างๆ สมการในการตัดสินใจอาจโน้มเอียงมาทาง Cost of face คือสิ่งที่ฉันคิดมันใช่ ถึงมันอาจจะไม่ใช่ไปแล้วในเวลานี้ แต่จะให้กลับข้างไปเลย แล้วจะเอาหน้าตาไปไว้ที่ไหน ครั้งหน้าครั้งต่อไปเวลาพูดอีกในเรื่องอื่นใครมันจะเชื่อ... ส่วนพวกที่โน้มเอียงมาทาง Cost of fund ก็เน้นย้ำว่า กำไรหรือผลตอบแทนบนทุนที่ระดมมาลงนั้นเป็นใหญ่ วิธีการไปสู่เป้าหมายไม่สำคัญมากไปกว่าเป้าหมายต้องถึง หน้าตาไม่สำคัญ วันนี้จะพูดต่างจากวันวานบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะสถานการณ์เปลี่ยน ยิ่งมีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นยิ่งต้องหาผลตอบแทนให้มหาชนเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่พูดว่า

บุญรักษา คุณพระ(ช่วย)คุ้มครองครับ...