posttoday

เงินบาทแข็งค่าผู้ร้ายของเศรษฐกิจไทย โอกาสสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

24 มกราคม 2563

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

เรื่อง เงินบาทแข็งค่าผู้ร้ายของเศรษฐกิจไทย โอกาสสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

โดย ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร และธวัชชัย วงศ์รัตนศิริกุล

บลจ.บางกอกแคปปิตอล

........................................................................................

เมื่อปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากและเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยบาทแข็งค่าขึ้นสูงถึง 8.1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้เกิดเสียงบ่นทั้งจากภาคท่องเที่ยวและส่งออกว่า “บาทแข็งกระทบกับธุรกิจไทย” ซึ่งหากมองตามโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีเสียงบ่นออกมามากเพราะการส่งออกบ้านเรามีสัดส่วนสูงถึง 78% ของ GDP ประเทศ

ในขณะที่แรงงานไทยกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการและอุตสาหกรรมสูงถึง 68% พอเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเร็วจนภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวทันก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ตัวเครื่องยนต์ด้านการส่งออกของเราก็สะดุด โดยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2019 เติบโตติดลบถึง 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าตามปกติค่าเงินของประเทศจะแข็งค่าขึ้นเพราะเศรษฐกิจประเทศนั้นเติบโต และ/หรือ ภาคเอกชนมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าเทียบประเทศอื่น แต่กรณีบาทแข็งค่าในปัจจุบันตรงกันข้ามเพราะเศรษฐกิจเราชะลอตัวลงและความสามารถในการแข่งขันก็ถดถอย หรืออีกนัยหนึ่งการแข็งค่าของบาทต้องมีบางอย่างที่ผิดปกติ

อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุให้บาทแข็งอย่างผิดปกติ?

การแข็งค่าของเงินบาทนั้นความจริงเป็นเพียงอาการป่วยของเศรษฐกิจไทย ไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลงแต่อย่างใด ผมขอแบ่งสาเหตุของปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือ สาเหตุแรก ในระยะสั้นประเทศเรามีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเรื่อยมาในช่วง 6 ปีย้อนหลัง แต่การเกิดดุลในช่วงหลังไม่ได้เป็นการเกินดุลที่มีคุณภาพมากนัก กล่าวคือ เพราะมูลค่าการนำเข้าของเราหดตัวลงเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งหมายถึงการสะสมสินค้าทุนและการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ที่ลดลง ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่สองคือการลงทุนของทั้งภาครัฐฯ และเอกชนเราอยู่ในระดับต่ำ การออมเงินเป็นจำนวนมากจนเกิดสภาพคล่องส่วนเกินล้นระบบ แม้กดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ แต่รัฐฯ ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบายและสร้างความเชื่อมั่นจนกระตุ้นให้เอกชนลงทุนได้

สนามบินสุวรรณภูมิ คือโครงการลงทุนล่าสุดที่สามารถเพิ่มศักยภาพของประเทศได้อย่างชัดเจน โครงการนี้ย้อนกลับไปก็เมื่อปี 2549 หรือเกิดขึ้นมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว เราควรพลิกวิกฤตที่บาทแข็งค่าขึ้นในปัจจุบันเร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศไทยโดยการลงทุน ภาครัฐฯ ปัจจุบันกำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ควรผ่อนปรนข้อจำกัดบางอย่างและส่งเสริมการการลงทุนของเอกชนควบคู่กันไป

ในมุมของนักลงทุน แม้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะเป็นเหตุให้ราคาหุ้นไทยได้รับผลกระทบในแง่ลบ จากผลประกอบการที่ลดลงในบางกลุ่มธุรกิจ แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสดีในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงออกจากทรัพย์สินหรือธุรกิจของนักลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ภายในประเทศไทยแล้ว บาทที่แข็งค่าอย่างผิดปกติยังเพิ่มอำนาจในการซื้อของได้ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น (ราคาในดอลลาร์เท่าเดิม) ให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

หากจำลองเหตุการณ์ไปข้างหน้า ปัจจุบันถือว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเริ่มลงทุนต่างประเทศ เพราะหากค่าเงินบาทของไทยยังคงแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามปัจจัยระยะสั้น ราคาของหุ้นไทยยังจะคงได้รับแรงกดดันจากเรื่องผลประกอบการ แต่หากเงินบาทอ่อนตัวลงพอร์ตต่างประเทศของนักลงทุนยังมีกำไรจากการแลกเงินดอลลาร์กลับมาสู่บาท

ส่วนในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ การกระจายไปลงทุนในต่างประเทศจะทำให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นและลดความผันผวนลงได้ เช่นในปี 2562 ผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีหุ้นโลกหรือ MSCI ACWI สร้างผลตอบแทนสูงถึง 17.33% ในขณะที่หุ้นไทยหรือ SET Index ให้ผลตอบแทนเพียง 4.29% แน่นอนว่าผลตอบแทนในการลงทุนต่างประเทศอาจจะไม่ได้ดีกว่าหุ้นไทยในทุก ๆ ปี แต่โดยเฉลี่ยพอร์ตที่มีการลงทุนต่างประเทศมักจะมีผลงานที่ดีขึ้น

ตามมุมมองของเรา เงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นได้อีก ดังนั้นการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนควรมีการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินไว้ด้วย ตามปกติกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีการระบุในหนังสือชี้ชวนอยู่แล้วว่า กองนั้น ๆ มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอย่างไร และเปิดโอกาสให้นักลงทุนปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้

โดยสรุปเงินบาทแข็งค่าเป็นเพียงอาการของคนป่วย (ประเทศไทย) เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมือนจะแข็งแกร่งแต่หากโฟกัสลงไปเป็นส่วน ๆ ก็จะพบว่ายังมีความอ่อนแออยู่บ้าง ภาครัฐฯ พยายามแก้ไขโดยเน้นให้เกิดลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว นักลงทุนสามารถเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของผลประกอบการของบริษัทภายในประเทศ โดยใช้โอกาสที่บาทแข็งค่าอย่างผิดปกติ กระจายการลงทุนออกไปสู่ต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบส่วนเพิ่มในระยะยาว