posttoday

จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป

20 มกราคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...วรันธร ภู่ทอง มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...วรันธร ภู่ทอง มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.20-30.60 คาดว่าตลาดจะหันไปให้ความสนใจกับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ โดยประธานอีซีบีนางคริสติน ลาการ์ดจะแถลงกรอบและกลยุทธ์การดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะเป็นการเปิดเผยทิศทางการตัดสินนโยบายการเงินต่อไป โดยเฉพาะบนพื้นฐานของเสถียรภาพทางราคา ในเอเชีย ธนาคารกลางญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซียจะมีการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้เช่นกัน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนจับตาการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในหลายประเทศว่าจะกลับมาปรับดีขึ้นภายหลังจากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนได้มีการลงนามไปแล้วหรือไม่

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาททยอยอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์ โดยอ่อนค่าสูงกว่า 30.50 บาทในช่วงการซื้อขายของวันที่ 17 มกราคม พิธีการลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ของสหรัฐฯ และจีนราบรื่น โดยมีรายละเอียดข้อตกลงเพิ่มเติม โดยนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่าทรัมป์อาจพิจารณายกเลิกภาษีนำเข้าในช่วงการเจรจารอบที่ 2 ได้ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังคงถอดจีนออกจากรายชื่อประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (Currency manipulator) ตอบรับต่อความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ และจีน ทำให้ตลาดคลายความกังวลลงและเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้่น

อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่าลงช่วงหนึ่งในช่วงต้นสัปดาห์เมื่อ นายอุตตมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยกล่าวว่า ไทยจะไม่แทรกแซงค่าเงินบาท และนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. รายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทโดยไม่ได้ประกาศมาตรการชะลอเงินบาทแข็งค่าเพิ่มเติมอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทั้งนี้ในช่วงบปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีภาคธุรกิจโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และยอดขอรับสวัสดิการจ้างงานสะท้อนการบริโภคและธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย นักลงทุนต่างชาติหลักทรัพย์ขายสุทธิในช่วงวันที่ 13-16 มกราคม ทั้งสิ้น 5.3 พันล้านบาท และขายสุทธิจากตลาดตราสารหนี้ 2.7 พันล้านบาท ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ 30.395 บาทต่อดอลลาร์ (เวลา 16.52 น.)

ตลาดตราสารหนี้ ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา โดยในฝั่งขอสหรัฐฯ มีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 145,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่งและต่ำกว่าการจ้างงานเดือนพฤศจิกายนที่ถูกปรับให้ลดลงมาที่ 256,000 ตำแหน่ง ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐก็ชะลอลงในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้น 0.2%MoM จาก 0.3%MoM ในเดือนก่อนและต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.3%MoM ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1%MoM จาก 0.2%MoM ในเดือนก่อน รวมไปถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนธ.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมขยายตัวแข็งแกร่งที่ 0.3%MoM ทำให้ยอดค้าปลีกทั้งปี 2019 ขยายตัว 3.6%

ส่วนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟิลาเดลเฟียเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดมาอยู่ที่ 17.0 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.3 และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน เมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมามีทั้งที่ดีกว่าและแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯเคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับตัวเลขของประเทศเยอรมนีที่มีการประกาศตัวเลขจีดีพีของเยอรมนีปี 2019 ที่ขยายตัว 0.6% ชะลอตัวลงจาก 1.5% ในปี 2018 ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี แต่ก็ยังมีข่าวดีจากการประกาศอัตราเงินเฟ้อเยอรมนีเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 0.6%MoM จากเดือนก่อนที่ -0.8%MoM

ขณะที่ทางฝั่งของสหราชอาณาจักรมีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1.3%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ระดับ 1.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ลดลงมาอยู่ที่ 1.4%YoY จาก 1.7%YoY ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งภายหลังอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรประกาศออกมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของอังกฤษได้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ตลาดเริ่มกลับมาพูดถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอังกฤษจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ในการประชุมวันที่ 30 มกราคมนี้ โดยโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 68%

ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ ณ วันที่ 17 มกราคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.16% 1.17% 1.22% 1.28% 1.37% และ 1.49% ตามลำดับ

จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 3,776 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 117 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,659 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ