posttoday

จับตาเศรษฐกิจปี 2020

06 มกราคม 2563

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

เรื่อง จับตาเศรษฐกิจปี 2020

โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

.................................................................

เมื่อมองย้อนกลับไปการลงทุนโดยรวมในตลาดโลกปี 2019 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าจะมีควันหลงแห่งความกังวลและความเสี่ยงต่างๆ มาจากปีก่อนหน้า แต่ก็กลับกลายเป็นปีที่ดีของหลายๆ ตลาดทั่วโลก หากนับถึงกลางเดือนธันวาคม ตลาดหุ้นโลกหรือดัชนี MSCI All Countries Index ก็ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับกว่า 20%

ในขณะที่เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนโดยดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นยุโรปสะท้อนโดยดัชนี STOXX Europe 600 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสะท้อนโดยดัชนี Nikkei 225 และกลุ่ม Emerging Markets โดยดัชนี MSCI Emerging Markets นั้นก็ต่างได้ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 25%, 20%,17% และ 10% ตามลำดับ

ในแง่สภาพคล่องของเม็ดเงินในตลาดโลกก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานายเจอโรม พาวเวลล์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการคนใหม่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และประกาศจุดยืนการคงดอกเบี้ยหลังจากที่ตลาดคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของปี 2019 เอาไว้ถึง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปัจจุบันกลับกลายเป็นต่ำกว่าในช่วงต้นปีถึง 0.75%

ส่วนเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้านของ Trade War กับ Trade Deal ตลาดได้เข้าสู่โหมดรถไฟเหาะโดยมีสัญญาณหลักของการกลับตัวจาก Twitter ของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยล่าสุดตลาดก็เพิ่งจะได้รับคำยืนยันถึง Phase I deal เพียงไม่กี่วันก่อนเส้นตายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

สำหรับปี 2020 นี้จะยังเป็นปีที่สำคัญทางการเมืองของสหรัฐฯ อยู่ เนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งสำหรับทรัมป์แล้วนั้น ไม่ว่าจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ ก็ยังมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พฤศจิกายน ในทางกลับกันในฝ่ายของพรรคเดโมแครต ตลาดกลับยังไม่เห็นผู้ท้าชิงตำแหน่งตัวเต็งที่ชัดเจนนัก ซึ่งหากดูโพลของผู้สมัครล่าสุด ผู้นำโพลยังคงเป็น โจ ไบเดิน, เบอร์นี แซนเดอร์ส และ อลิซาเบธ วอร์เรน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจยังคงต้องรอคอยการเลือกตั้งชั้นต้น (Primary Vote) แต่ละรัฐในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน และจนกว่าจะถึงวันนั้นเราคงยังไม่สามารถขีดชื่อผู้สมัครคนใดทิ้งได้ ซึ่งเมื่อตลาดทราบชื่อของตัวแทนจากพรรคเดโมแครตดแล้ว ตลาดก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อการตั้งนโยบายของผู้สมัครชิงตำแหน่งโดยพิจารณาประกอบกับความน่าจะเป็นที่ผู้สมัครเหล่านั้น จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยหน้า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในปีนี้คือ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยการกระทำของเฟด (ผ่านทิศทางของดอกเบี้ย) จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กำหนดสภาพเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของรัฐบาลในปีนั้นๆ ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว ในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสองครั้งล่าสุดเมื่อปี 2012 และปี 2016 นั้น เฟดมิได้ขยับดอกเบี้ยเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่หากย้อนกลับไปลึกกว่านั้นเช่นในปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นต้น เฟดเริ่มต้นปีด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.25% และจบปีด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดแทบจะไม่เคยเห็นเฟดในสมัยใดๆ ในอดีตที่ถูกกดดันหรือแทรกแซงจากรัฐบาลมากเท่ากับเฟดในชุดปัจจุบันนี้ภายใต้การนำของนายเจโรม พาวเวลล์ และสำหรับในปี 2020 เฟดก็ได้ออกมาสื่อเป็นนัยยะผ่าน dot plot แล้วว่าอาจจะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยแม้แต่ครั้งเดียว และเป็นการสื่อสารทางอ้อมให้กับรัฐบาลของทรัมป์ว่าเฟดจะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้จากนโยบายการค้าต่างประเทศของทรัมป์ได้อีกแล้ว

เราคงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดนะครับว่า เฟดจะมีท่าทีอย่างไรในปี 2020 รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็จะมีผลต่อการลงทุนของเราต่อไปด้วยนะครับ