posttoday

ความเหลื่อมล้ำ: รากเหง้าของปัญหาฮ่องกง

09 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ปัญหาการประท้วงในฮ่องกงที่เริ่มตั้งแต่กลางปีจนมาถึงปัจจุบันยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ประเด็นการประท้วง ณ ขณะนี้ได้เลยจุดเริ่มต้นของการประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้ว หนึ่งในความอัดอั้นตันใจของหนุ่มสาวชาวฮ่องกงที่ออกมาประท้วงอย่างมากมายในคราวนี้เหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ สังคม ที่ถูกหมักหมมมาอย่างยาวนาน

ภาพที่หลายคนเห็นว่าฮ่องกงมีความเจริญเติบโตทางด้านธุรกิจ แท้จริงแล้วมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ซ่อนอยู่อย่างมาก เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการดำรงชีวิตกลับมีปัญหามากมาย มีประชาชนเพียง 49% เท่านั้นที่เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสภาพที่ไม่ได้ดีนัก ขณะที่หลายคนยังคงต้องจ่ายค่าเช่าเพียงเพื่อมีที่พอนอนเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเช่นเดียวกันประชาชนเป็นเจ้าของบ้านกันถึง 91%

มีผลการสำรวจจาก Demographia ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่เชื่อถือได้ในสหรัฐฯ ว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่มีความสามารถที่จะเป็นเจ้าของอสังหาฯได้น้อยที่สุด มีค่าเฉลี่ยราคาบ้านอยู่ที่ 21 เท่าของรายได้ต่อปี ปัญหานี้เป็นการสะสมของนโยบายที่ไม่ได้คำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำและการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์บางกลุ่ม ส่งผลให้ความรู้สึกไม่ยุติธรรมในสังคมหยั่งรากลึก เพราะคนหนุ่มสาวเหล่านี้รู้สึกว่าต่อให้ทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถที่ตะเกียกตะกายยกฐานะของตัวเองขึ้นมาได้ เพียงแค่บ้านของตัวเองยังไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าของเองได้เลย

ย้อนมามองสังคมโลกปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้มีอยู่ทั่วโลก และมีมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008-2009 จะเห็นได้ปัจจุบันจากคนเพียง 1% เท่านั้นที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านเหรียญขึ้นไป และคิดเป็นกว่า 45% ของสินทรัพย์โลก อีกทั้งเมื่อดูการกระจุกตัวของคนรวยส่วนใหญ่นั้นอยู่ในสหรัฐฯ และถ้าหากดูจำนวนคนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในสหรัฐฯไปแล้วกว่า 41% และอีกกว่า 24% นั้นอยู่ในยุโรป ในระดับรายประเทศความแตกต่างทางด้านสถานะทางการเงินก็แย่ลงเรื่อยๆ การกระจุกตัวของรายได้ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีมากขึ้นทุกๆปี คนรวยก็รวยขึ้นแต่คนจนในหลายประเทศกลับแย่ลงซึ่งปัญหานี้เหมือนกับภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุขึ้นเป็นความแตกแยกทางสังคมเมื่อใดก็ได้

ถึงแม้ว่าในสหรัฐฯ และยุโรปนั้น ปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำอาจจะไม่ได้ย่ำแย่เท่าฮ่องกง แต่ก็นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยากจะคาดเดาผลลัพท์และนโยบายที่เอียงซ้ายมากขึ้น ส่งผลให้นโยบายประชานิยมเป็นที่นิยมในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีแต่จะสูงขึ้น มีผลต่อกลยุทธ์การลงทุนด้วย เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นความเสี่ยงมากขึ้นในสถานะการลงทุนปัจจุบัน

ทาง KBank Private Banking ได้เน้นกลยุทธ์การลงทุน กระจายลงทุนในทุกสินทรัพย์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และต้องมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนตามสภาวะ หรือความผันผวนของตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นกองทุนเปิดเค โกลบอล ริสก์ แอลโลเคชั่น ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (K-GLAM-UI) หรือ กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะตลาดดังเช่น กองทุนเปิดเค มัลติ-สตราทีจี บอนด์ (K-MBOND) ที่เป็นการลงทุนทางเลือก เน้นลงทุนผ่านตราสารหนี้ และสกุลเงิน ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลตอบแทนต่อความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี