posttoday

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯยังไม่จบลงง่ายๆ

19 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ Global Investment Advisory

คอลัมน์ Global Investment Advisory

เรื่อง : สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังไม่จบลงง่ายๆ

โดย: ทิพย์รัตน์ นันทปรีดาวัฒน์

นักวิเคราะห์กลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

*********************************

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตอบรับข่าวดีจากความหวังที่มีต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่คาดว่าจะมีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงชั้นที่ 1 (Phase One) ในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งการลงนามครั้งนี้ จะเป็นการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างทั้ง 2 ประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ความตึงเครียดด้านการค้าเริ่มก่อตัวขึ้นในเดือน มี.ค. ปีก่อน

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยังไม่ควรวางใจว่าสงครามการค้าที่ดำเนินมาราวปีเศษจะปิดฉากลงได้โดยง่าย เนื่องจากร่างข้อตกลงใน Phase One ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่แน่ชัด อีกทั้งการเจรจาข้อตกลงในขั้นถัดๆ ไป เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งสำคัญที่ทางการจีนไม่น่าจะยอมตกลงกับสหรัฐฯ ง่ายนัก

ในอดีต สหรัฐฯ เองก็เคยมีประเด็นข้อพิพาทด้านการค้ากับญี่ปุ่นมาก่อนในปี 1981 ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 13 ปีกว่าข้อขัดแย้งดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามการเรียกร้องของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ซึ่งผิดไปจากปัจจุบันที่จีนมีท่าทีพร้อมสู้กลับมากกว่า

ดังนั้น TISCO ESU จึงมองว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนน่าจะจบลงได้ยาก และมีความเป็นไปได้สูงที่สงครามการค้าจะยืดเยื้อและกินเวลานานต่อไปอีกหลายปี

มี 3 ประเด็นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าสงครามการค้ารอบนี้ไม่น่าจะจบลงได้โดยง่าย

ประเด็นแรก จีนตอบโต้กลับการเก็บภาษีสินค้านำเข้า (Tariffs) ของสหรัฐฯ เช่น ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2018 หลังจากที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนที่อัตรา 25% กับสินค้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนก็เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ กลับในอัตราและมูลค่าที่เท่ากันกับกลุ่มสินค้าเกษตรและถ่านหิน

ในขณะที่ญี่ปุ่นยอมตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องหลายอย่าง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และอาศัยกำลังทางทหารจากสหรัฐฯ หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น จำกัดปริมาณการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ (Voluntary Exports Restraint) ในปี 1981 ซึ่งยืดเยื้อถึง 13 ปี จากเดิมที่ถูกกำหนดให้มีผลบังคับใช้แค่ 3 ปี และลงนามในข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ในปี 1985 เพื่อให้เงินเยนแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเด็นที่ 2 จีนมีความสามารถในการต้านทานการโจมตีจากสหรัฐฯ ได้มากกว่าญี่ปุ่น จากการอ่อนค่าของเงินหยวน ซึ่งได้ช่วยชดเชยผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้า โดยค่าเฉลี่ยอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22% จาก 8% ก่อน เริ่มสงครามการค้า ขณะที่เงินหยวนได้อ่อนค่าลงไปแล้ว 10% นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มเจาะจงเก็บภาษีกับจีนในเดือน มี.ค. 2018 ขณะที่เงินเยนในสมัยนั้นถูกจำกัดจากข้อตกลง Plaza ไม่ให้อ่อนค่า ซึ่งทำให้เงินเยนแข็งค่าไปถึง 40% ในช่วงก่อนฟองสบู่จะแตกในปี 1991

ประเด็นสุดท้าย สหรัฐฯ ขู่ว่าจะขยายกรอบนโยบายกีดกันไปยังการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มเติมจากที่ปัจจุบันโจมตีแค่การเก็บภาษีนำเข้า โดยขณะนี้สหรัฐฯ กำลังพิจารณาจำกัดสัดส่วนการลงทุนในจีนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสหรัฐฯ (US Government Pension) และจำกัดกรอบมูลค่าการลงทุนในจีนของดัชนีที่บริหารโดยบริษัทสหรัฐฯ แรงต้านทานและตอบโต้ของจีนที่มีมากกว่าญี่ปุ่น ประกอบกับการขู่ขยายกรอบนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทำให้เรามองว่าสงครามการค้ารอบนี้มีแนวโน้มยืดเยื้อกินเวลานานหลายปี และเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะกลับมากดดันตลาดหุ้นในระยะข้างหน้า