posttoday

ต้นทุนทางสังคม : ปัญหาที่ต้องจัดการถ้าอยากเป็นประเทศพัฒนา

19 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

อยากช่วยชาติ ไม่ต้องชิม (ช่วยชาติ โดยใช้เงินรัฐสนับสนุน) ไม่ต้องช้อป (ช่วยชาติ โดยใช้เงินรัฐสนับสนุน) ไม่ต้องใช้ (ช่วยชาติ โดยใช้เงินรัฐสนับสนุน) เพียงแค่ทำความเข้าใจว่า ต้นทุนในระบบเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม ซึ่งปกติ เราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้บริโภคทั้งหลายก็ไม่อยากจ่าย ไม่ต้องการจ่าย หรือไม่ได้สนใจเสียด้วยซ้ำไปว่ามันมีเกิดขึ้น

คนที่ต้องแบกรับก็ไปตกที่สังคม (โดยรวม) ทั้งที่ได้รับ และไม่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคนั้น ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นระหว่างประโยชน์ส่วนตน (Individual Benefits) กับต้นทุนส่วนรวมของสังคม (Social Costs) ที่ต้องร่วมกันจ่าย การเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางสังคม (เมื่อระดับการพัฒนาของประเทศมาถึงจุดหนึ่งที่สังคมไม่สามารถรองรับได้แล้ว) กลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ฉุดรั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยิ่งถ้าประเทศปล่อยปะละเลยกับปัญหาต้นทุนทางสังคมเหล่านี้เป็นเวลานาน ต้นทุนทางสังคมเหล่านี้ก็จะก่อตัวให้เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะกลุ่มคนที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางสังคมไว้มาก ไม่สามารถผลักภาระไปให้คนอื่นในสังคมร่วมกับแบกรับได้ ก็จะกลายเป็นกลุ่มที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อย หรือด้อยกว่ากลุ่มอื่น เกิดเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจน้อย สร้างรายได้หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่า และเมื่อมีคนที่อยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ เกิดเป็นกับดับของการพัฒนาที่ทราบกันดีว่า "กับดับรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap)"

ดังนั้น ในระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะคล้ายกับที่กล่าวถึงนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนทางสังคมและผลกระทบของต้นทุนทางสังคมเพื่อจะได้ปรับตัวในการรองรับต้นทุนทางสังคมเหล่านั้นให้สอดคล้องกับโครงสร้างการตัดสินใจของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ (Economic Players or Agents) เช่น ถ้าเราอยากส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพราะเห็นว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ก็ต้องไม่ลืมที่จะต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นด้วย เช่น ต้นทุนเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยว (สถานท่องเที่ยว)และสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางด้านมลพิษและขยะจากกการท่องเที่ยว ฯลฯ

ถ้าต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้ถูกนับเป็นต้นทุนในกระบวนการตัดสินใจ (ผู้ประกอบการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ต้องจ่าย) ก็จะคิดราคาการให้บริการการท่องเที่ยวต่ำกว่าความเป็นจริงโดยมีคนส่วนหนึ่งในสังคมต้องร่วมกันแบกรับต้นทุนเหล่านี้ไว้ ก่อให้เกิดผลเสียทั้งในแง่ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการผลิต และประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรการผลิตของประเทศ ในส่วนต่อไปนี้จะขอยกตัวอย่างต้นทุนทางสังคมตามลักษณะของปัญหาที่พบเห็นได้เป็นการทั่วไปในสังคมไทยซัก 2-3 ตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของปนะเทศ ดังต่อไปนี้

ความมีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบของคนในสังคม

การสร้างให้คนในสังคมมีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ ในสังคมไทย เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่าสังคมไทยมีการตรากฎหมายขึ้นมามากมาย แต่มีปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็อาจจะมีปัญหาได้จากหลายส่วน เช่น ตัวกฎหมายเองมีปัญหา ล้าสมัย ปฏิบัติได้ยาก ไปจนถึงผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมายเองมีการปฏิบัติอย่างไร มีความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานก็ยังคงเป็นเรื่องการที่คนในสังคมนั้นจะมีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ว่าจะต้องประพฤติ ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เมื่อมีกฎหมาย กฎระเบียบอะไรออกมา ก็พยายามหาทางหลบเลี่ยงกัน ใครที่หลีกเลี่ยงได้เก่ง กลับได้รับการชื่นชมจากสังคมว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ ในขณะที่คนปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบอย่างเคร่งครัด กลับถูกมองว่าโง่ ไม่รู้จักเอาตัวรอด
การบ่มเพาะพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม ทุกคนพยายามที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองด้วยการทำให้ตนเอง หรือพวกพ้องอยู่ในสถานะเหมือนเป็น Free Rider ซึ่งจะได้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ๆ โดยปริยาย (คือไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องทำตามกฎระเบียบ) ต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการที่คนในประเทศขาดระเบียบวินัย ไม่รู้หน้าที่ ไม่มีความรับผิดชอบสะท้อนออกมาในรูปความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม มีความหวาดระแวง การทำธุรกิจก็ต้องทำสัญญากันอย่างระมัดระวัง มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกโกง กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น และการใช้ทรัพยากรการผลิตก็ขาดประสิทธิภาพ ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่มีความเป็นระเบียบวินัยสูง ประชาชนรู้หน้าที่ (เช่น ประชาชนในสังคมของประเทศพัฒนาแล้วมักจะรู้หน้าที่ของตนที่จะต้องเสียภาษี ทำให้มีฐานภาษีที่ใหญ่ ครอบคลุมครบถ้วน และมีความเป็นธรรม) และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมสูง ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง พัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การลดการทุจริตคอร์รัปชั่น

ที่ใช้ว่าลดการทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะผู้เขียนโดยส่วนตัวคิดว่าคงจะขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมดไปไม่ได้ ไม่ว่าจะสังคมจะมีการพัฒนามากขึ้นเพียงใด เพียงแต่จะจำกัดให้มันน้อยลง หรือให้มีน้อยที่สุดอย่างไร ต้นทุนของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นต้นทุนที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระบบเศรษฐกิจไทย การกำหนดหรือตรากฎหมายขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในด้านหนึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลงได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็จะขาดประสิทธิภาพไปเพราะส่วนหนึ่งของทรัพยากรการผลิตของประเทศถูกนำมาใช้เพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้ง ๆ ที่ถ้าคนในระบบเศรษฐกิจนั้นเลือกที่จะไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชั่นเสียเองได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องสูญเสียทรัพยากรเหล่านั้นไป เพียงแต่ว่าการเกิดสังคมอย่างนั้นได้ดูเหมือนอาจจะเป็นการจินตนาการมากเกินไป แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 100% การที่คนในสังคมตัดสินใจเองว่าจะไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีเกิดขึ้นให้เห็นกันได้มากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือพัฒนาน้อยกว่า ที่ดูเหมือนในหลายๆ ครั้งที่การทุจริตคอร์รัปชั่นถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำกัน ทำกันนานเข้าก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่เหมือนกับว่าไม่ใช่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ยังขาดประสิทธิภาพในหลายจุด การใช้จ่ายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่มีผู้เต็มใจจะจ่าย ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย แต่เพื่อความสะดวกและรวดเร็วก็ยินดีจ่ายเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ต้นทุนทางสังคมของการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเป็นต้นทุนที่เกี่ยวกับการตั้งใจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากทั้ง ๆ ที่สามารถทำให้สะดวกและรวดเร็วได้ นอกจากนี้ เมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ก็จะมีต้นทุนทางสังคมที่มาจากความเหลื่อมล้ำ บางกลุ่มได้ประโยชน์มากกว่า บางกลุ่มเสียประโยชน์ การเอื้อประโยชน์ในการเข้าถึงทรัพยากรของภาครัฐ ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพของทรัพยากรการผลิต กลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่คนทุกคนในสังคมต้องร่วมกันแบบรับ แต่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ

การทำนุบำรุงและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมภายในประเทศและระหว่างประเทศ

การเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแพร่กระจายของมลพิษไม่ว่าจะเป็นทางดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน (หรือ Climate Change) ล้วนแต่เป็นผลกระทบจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสะสมเป็นต้นทุนทางสังคมที่ถูกมองข้าม หรือไม่สนใจในอดีต จนกระทั่งต้นทุนทางสังคมเหล่านี้มีมากขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้การตัดสินใจของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหนึ่งๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ข้อเรียกร้อง หรือการเกิดขึ้นของกฎหมาย กฎระเบียบทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนทางสังคมด้านนี้ที่ไม่ได้ถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการในการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าหรือบริการ จนดูเหมือนว่าประเทศนั้นมีต้นทุนการผลิตต่ำ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง แท้จริงแล้ว ประเทศที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถในการจัดการกับต้นทุนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหากที่จะเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง คือไม่ใช่ไม่คำนึงถึงต้นทุนบางอย่าง แล้วทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน

ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง 2-3 เรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญต่อการสร้างต้นทุนทางสังคมในระบบเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เราพยายามมองหาแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พยายามทำความเข้าใจว่าการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อการลงทุนเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการทุ่มเทเพื่อจัดการกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางสังคมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาไม่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตโดยมีเป้าหมายหลักคือการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนในประเทศโดยรวม