posttoday

การลงทุนช่วงผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ

17 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง การลงทุนช่วงผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ

โดย ปัญญพัฒน์ ประคุณหังสิต

กองทุนบัวหลวง

.......................................................................

ในอดีต หากพูดถึงตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ คงเป็นเรื่องแปลกสำหรับนักลงทุน เนื่องจากโดยปกตินักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้จะคาดหวังถึงผลตอบแทนที่แน่นอน จากดอกเบี้ยจ่ายและการชำระเงินคืนเต็มจำนวนเมื่อถึงเวลากำหนดชำระคืน ในขณะที่ตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนติดลบ มีความหมายว่า นักลงทุนจะให้ผู้ออกตราสารกู้ยืมเงินและยอมที่จะได้รับเงินคืนจำนวนที่น้อยลงกว่าเงินที่ให้กู้ยืมไป

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ธนาคารกลางได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบ Unconventional ทั้งมาตรการคิวอี ที่เข้าซื้อตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนจำนวนมหาศาล รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินลงสู่ระดับต่ำจนถึงระดับติดลบในบางประเทศ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลหลายประเทศปรับตัวลดลงจนเข้าสู่ระดับติดลบในระยะต่อมา

โดยปัจจุบันประเมินว่า มีตราสารหนี้ทั่วโลกกว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 25% ของตราสารหนี้ทั่วโลกที่ให้อัตราผลตอบแทนระดับติดลบ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ภาคเอกชนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ในแถบยุโรปและญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่นักลงทุนในประเทศอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมด้วยเช่นกัน จากเม็ดเงินลงทุนที่ต้องการแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน (Search-for-yield) ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง จนนักลงทุนเห็นเป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัย (Safe Heaven) อย่างสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางแห่ง รวมถึงประเทศไทยที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยรวมกว่า 32,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปี

ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในการประชุมเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.43-1.50 % ซึ่งถือเป็นระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกทั้งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี หากว่า นักลงทุนต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ให้ผลตอบแทนเกินกว่าระดับ 2% ต้องลงทุนในพันธบัตรที่อายุคงเหลือยาวเกินกว่า 35 ปีขึ้นไป

ถึงแม้การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างพันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนระดับต่ำ แต่นักลงทุนบางส่วนยังคงอดทนและมีการลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความกังวลต่อความผันผวนและแนวโน้มของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จากประเด็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มจะได้ข้อสรุปในอนาคตอันใกล้ การเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปเรื่องเบร็กซิต รวมทั้งภาวะ Inverted yield curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นับเป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป โดยเฉพาะภาวะ Inverted yield curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สัญญาณดังกล่าวไม่ได้บอกถึงระยะเวลาการเกิดที่แน่นอน จากข้อมูลในอดีตของสหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยหลังเกิดภาวะ Inverted yield curve ครั้งแรกจะใช้มีระยะเวลาถึง 14 เดือนก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และบางครั้งใช้เวลายาวนานถึงเกือบ 2 ปี

อีกทั้ง ธนาคารกลางทั่วโลกได้ตระหนักถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจนทำให้มีการเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินกลับมาสู่ภาวะผ่อนคลายอีกครั้ง นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่ปรับท่าทีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีก่อน มาเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาและยุติการลดงบดุล รวมถึงยังมี Policy space อีกค่อนข้างมาก ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป

หากพิจารณาถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะมีบางส่วนที่มีสัญญาณการชะลอตัวโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า แต่สัดส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อย่างการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนยังมีสัญญาณที่แข็งแกร่ง ทั้งอัตราการว่างงานที่ทรงตัวในระดับต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และค่าจ้างแรงงานที่ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ความกังวลต่อ Inverted yield curve ที่มากเกินไป อาจทำให้นักลงทุนสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ภายใต้การสื่อสารในยุคปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนได้รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากอย่างรวดเร็วและบางครั้งอาจมากเกินความจำเป็นด้วยซ้ำ แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ยังคงเป็นการพิจารณาผลตอบแทนควบคู่กับความเสี่ยงที่เหมาะสม และการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ นั่นเอง

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดมีความผันผวนไปตามข้อมูลข่าวสารตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ที่ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ อาจไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างเพียงพอ นักลงทุนจึงควรพิจารณากระจายการลงทุนไปยังตราสารอื่นๆ ทั้งตราสารทุนและสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อาทิ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ/หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ที่ทำให้นักลงทุนจะสามารถรับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สม่ำเสมอในระยะยาว

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถเลือกและแบ่งสัดส่วนการลงทุนได้เองตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่หากนักลงทุนไม่มีเวลาเพียงพอในการคัดเลือกและพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสม ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท โดยมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญบริหารจัดการแทนได้