posttoday

รายได้หลายทางไม่สำคัญเท่ารายได้จากหลาย Skills

11 กันยายน 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...K-Expert เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...K-Expert เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

ระหว่างที่กำลังรอคิวอยู่ที่ทำการไปรษณีย์ ดิฉันก็เหลือบไปเห็นสาวน้อยน่ารักที่กำลังลำเลียงกล่องพัสดุจำนวนมากเข้ามา เธอคงเป็นแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องส่งเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือของสวยงามตามประสาผู้หญิง เหมือนที่ดิฉันกำลังส่งคืนรองเท้าที่ซื้อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อเข้ามาใกล้ๆ เธอกลับเป็นรุ่นน้องที่ห่างหายไปนานและหลังจากที่ได้พูดคุยก็สร้างความประหลาดใจไม่ใช่น้อย............เพราะสิ่งที่ส่งนั่นคือ พระเครื่อง ใช่ค่ะรุ่นน้องคนนี้ปัจจุบันทำงานที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล มีรายได้เสริม คือ การเช่าพระเครื่อง ที่สำคัญรายได้ที่เธอได้รับมากกว่าอาชีพหลักเสียจนน่าอิจฉาเลยทีเดียว การมีรายได้หลายทางก็ถือว่ามีความมั่นคงไม่ใช่น้อย แต่ที่ดีกว่านั้นเธอยังมีรายได้ที่มาจากทักษะ(Skills) อื่นๆที่แตกต่างไปจากอาชีพหลักซึ่งช่วยเพิ่มมั่นคงขึ้นไปอีก

มีรายได้จากหลายทักษะดีอย่างไร ?

เพิ่มความมั่นคง เทคโนโลยีทำให้มีธุรกิจที่เกิดขึ้นมาใหม่มากมาย และบางธุรกิจก็ได้ปิดตัวลงไป รายได้จากอาชีพหนึ่งอาจหายไปแต่เราจะมีรายได้จากอีกอาชีพเข้ามาแทนที่ อย่างเช่นรุ่นน้องคนนี้ที่ถึงจะมีทักษะที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งในอนาคตก็อาจถูกแทนที่ด้วยระบบแต่เธอก็ยังมีรายได้จากทักษะการขายมาช่วย และเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าในวันข้างหน้าเธอคงเลือกจะขายอย่างอื่น ๆ เพิ่มขึ้นนอกจากปัจจุบัน

ต่อยอดเป็นธุรกิจส่วนตัว สำหรับใครที่ทำงานประจำ แต่อยากเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ นอกจากความถนัดเดิมที่ตนเองมีอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะ เราสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ การใช้เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น การของออนไลน์ การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ จะช่วยสร้างเสริมประสบการณ์และต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจได้

อะไรบ้างที่จำเป็นในอนาคต ?

ทักษะดิจิทัล (Digital skills) จากการายงาน Future of Jobs Survey 2018 ของ World Economic Forum พบว่าทักษะใหม่ๆที่เป็นที่ต้องการล้วนเป็นทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น ความสามารถในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย ตลอดจนการนำเอาทักษะนี้มาช่วยในกระบวนการทำงาน เป็นต้น ที่สำคัญทักษะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เช่น พนักร้านอาหารไม่มีเพียงแต่จดออเดอร์ยังต้องรู้จักการใช้งานแอปพิลเคชั่น ต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความทุกอุตสาหกรรมต้องการแต่ทักษะด้านดิจิทัล ยังมีอีกหลายทักษะที่องค์กรยังต้องการ เช่น ทักษะในการบริหารจัดการ การบริการ เป็นต้น แต่ทักษะดิจิทัลก็ยังถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น

ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous learning capabilities) เพราะความรู้มีวันหมดอายุ ความรู้ความเชี่ยวชาญในวันนี้ หากผ่านไป 5 ปี อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปก็ได้ เช่น ความสามารถในการคำนวณซึ่งจะถูกทดแทนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องขวนขวายและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

วิธีการเพิ่มทักษะ

เรียนรู้ หลายๆองค์กรต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย จึงมักมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพนักงานเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่นอกจากการสนับสนุนขององค์กรแล้ว เรายังสามารถเพิ่มเติมทักษะใหม่ได้ด้วยตนเองผ่านการเรียนรู้ในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น การศึกษาจากคอร์สออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจหรือทักษะที่เราอยากพัฒนา ยิ่งกังวลการตกงานเรายิ่งต้องพัฒนาตนเอง

ลงมือทำ เรามักพูดว่าคนเก่งมักเกิดจากพรสวรรค์ แต่จริงๆแล้ว เราทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถของตัวเองได้ โดยอาจเริ่มจากงานอดิเรกต่างๆ ที่เราทำ เพราะการทุ่มเทหรือการใส่ใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้เราเกิดความเข้าใจและความชำนาญจนกลายเป็นทักษะที่ติดตัวเราไปตลอด การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องยากหากได้ลองเริ่มต้นลงมือทำ

ตัวช่วยเมื่อขาดรายได้

ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะเตรียมความพร้อม แต่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ เช่น ตกงาน หากต้องเผชิญในสถานนี้ ควรจัดการตนเอง ดังต่อไปนี้

1. สำรวจแหล่งเงินเพื่อวางแผนใช้จ่าย

เงินออม เช่น เงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่าย) หรือบัญเงินฝากต่างๆ เป็นต้น

เงินออมที่มีเงื่อนไข เช่น กองทุนสำรองเลี้ยง ประกัน หรือกองทุน LTF / RMF หากเดือดร้อนและต้องการนำ

เงินออกมาใช้ก่อนจำเป็นที่ต้องศึกษารายละเอียด สิทธิประโยชน์ต่างๆที่อาจหายไปหากเราไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข

เงินจากช่วยเหลือของภาครัฐ เมื่อตกงานต้องรีบขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน และไปยื่นสิทธิเพื่อขอรับสิทธิ์เงินทดแทนกรณีว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคม

2. ปรับค่าใช้จ่าย

หลังจากที่สำรวจสถานะการเงินของตนเองในปัจจุบัน ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับช่วงที่ขาดรายได้ และที่สำคัญต้องวางแผนการชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดเพื่อรักษาประวัติของตนเอง

การตกงานอาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากเรามีการวางแผนการเงินและยังถือเป็นการเปิดโอกาสได้ทำสิ่งใหม่ๆ หรืออาจได้เจองานใหม่ที่ตนเองชอบ

จริงๆเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ในอดีต แต่ในยุคนี้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้นดูจะมีความเร็วจนทำให้เราต้องรีบเร่งปรับตัว และคงจะเป็นการยากที่เราจะคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีอาชีพอะไร ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดจนวางแผนการจัดการเงิน เพื่อชิวิตที่มั่นคง