posttoday

Cryptoassets พอร์ตทางเลือกที่ต้องระวัง

08 ตุลาคม 2561

นี่คือสิ่งที่เหล่าบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และนักลงทุนคริปโทเคอเรนซี พูดถึง

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง 

ยังไม่ตกยุคสำหรับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptoassets) แม้ราคาของบิตคอยน์ ซึ่งถือเป็นสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอเรนซี) หลักที่คนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอันแรก ราคาจะตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และย้ำฐานอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เบื้องหลังของนวัตกรรมทางการเงินหรือการลงทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนแต่มี “เทคโนโลยีบล็อกเชน” เป็นตัวผลักดันอย่างชัดเจน และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่เหล่าบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และนักลงทุนคริปโทเคอเรนซี พูดถึงกันในงานสัมมนา “CRYPTOASSETS : The Innovative Investment สินทรัพย์ดิจิทัล นวัตกรรมการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต”

เรื่องที่ต้องศึกษา

หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม แต่หากดูการขับเคลื่อนหน่วยงานทางการของไทย ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนเกิดการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ขึ้นมา พร้อมกับเห็นการเคลื่อนไหวของบรรดาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้ความสำคญกับเรื่องนี้ไม่น้อย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล” จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนปัจจุบันแล้ว

บล็อกเชนสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี ผู้ให้บริการซื้อขายคริปโทเคอเรนซี Bitkub.com บอกชัดเจนว่าเชื่อว่า บล็อกเชนจะมาเปลี่ยนโลกต่อจากอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่ต่างจากอินเทอร์เน็ตคือการส่งต่อ “สิ่งที่มีมูลค่า” หรือถ้า
จะเปรียบเป็นเทคโนโลยียุคแรกคือ การสื่อสารเป็นสาธารณะเพราะมีอินเทอร์เน็ตเข้ามายุค 2.0 คือ เทคโนโลยีที่จะเริ่มเห็นการสื่อสารที่โต้ตอบกันได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง (อินเตอร์แอ็กทีฟ) อย่างการใช้เฟซบุ๊ก และปัจจุบันยุค 3.0 คือ การแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ (Open Financial) และไม่ได้เป็นกรอบจำกัดที่อยู่แค่เพียงตัวเงินก็ได้ แต่เป็นอะไรก็ได้มีมูลค่า โดยที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อก่อนเพราะไม่มีตัวกลาง

ทาง “รอม หิรัญพฤกษ์” อดีตคณะกรรมการระบบชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ภายใน 5 ปีเทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้เกิดสิ่งใหม่มากมาย เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและมีไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวกับดิจิทัลเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ขณะที่บล็อกเชนก็เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย เป็นระบบเปิดที่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนเห็นได้หมด โดยไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลนี้ได้ เนื่องจากไม่มีตัวกลาง

Cryptoassets พอร์ตทางเลือกที่ต้องระวัง

ด้าน “วีรพงษ์ ชุติภัทร์” นักลงทุนมืออาชีพและคอลัมนิสต์เรื่องการลงทุน อยากให้ทำความเข้าใจว่า บล็อกเชนไม่ได้ทำให้คนตกงาน แต่มาทำให้ทุกคนและธุรกิจต้องรู้จักการปรับตัว สิ่งที่ทำให้คนตกงานคือ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กับเครื่องกลอัจฉริยะ (Robotic Machine) ที่จะมาคิดแทนมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับ “ปรมินทร์ อินโสม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง สตางค์โปร หรือ TDAX มองว่า เอไอกับบล็อกเชนน่าจะเป็นสิ่งที่มาช่วยเสริมการทำงานซึ่งกันและกันมากกว่า ไม่ได้มาแยกการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน

คริปโทฯ เป็นพอร์ตทางเลือก

แม้ราคาบิตคอยน์จะร่วงลงแรง การระดมทุนแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (ไอซีโอ) จะไม่ฮอตเหมือนที่ผ่านมา แต่วิทยากรมองว่า ปัจจุบันต้องถือว่าคริปโทเคอเรนซีเป็นพอร์ตทางเลือกอย่างหนึ่งในปัจจุบัน แต่ก็ควรมีความระมัดระวังในการลงทุนอย่างมาก และที่สำคัญต้องศึกษาข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว หรือแทบจะเรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทุกวินาที

“ปรมินทร์” กับ “วีรพงษ์” มองคล้ายกันตรงที่เชื่อว่าโลกของคริปโทเคอเรนซีไม่ตายได้ง่าย และสามารถเลือกคริปโทฯ เก็บไว้เป็นการลงทุนทางเลือกใหม่อย่างหนึ่ง แต่อย่าให้เกิน 5% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวมทั้งหมด ซึ่งหากราคาลงก็สามารถทยอยเก็บเพิ่มทีละ 1% โดยไม่ต้องรีบทยอยเข้าให้เต็มพอร์ต 5% และเลือกคริปโทฯ ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดหรือเป็นที่นิยม 10 อันดับแรก

แต่สิ่งที่ “ปรมินทร์” แนะนำเพิ่มคือ เราสามารถสร้างความสมดุลหรือบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนคริปโทฯ ซึ่งหากราคาคริปโทฯ ดิ่งลงแรงก็เข้าไปซื้อ (ลอง) ในตลาดตราสารอนุพันธ์ล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาบิตคอยน์ (บิตคอยน์ ฟิวเจอร์ส) ได้

ขณะที่ “จิรายุส” ให้ข้อแนะนำว่า ปกติการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นมาบ่อย ผ่านไปหลายเจเนอเรชั่นจะเกิดขึ้นสักครั้ง ส่วนตัวจึงเชื่อในบล็อกเชนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการเงินและการลงทุน ถ้าหลายคนการศึกษาอย่างจริงจังก็มีการพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่เหมือนกับที่คนเคยใช้เวลาทำความเข้าใจอินเทอร์เน็ตและทำให้เกิดสิ่งใหม่ตามมา

โดยหวังว่าอนาคตถ้ามูลค่าโดยรวมของคริปโทเคอเรนซีทั้งหมดขึ้นมา 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน (ไฟแนนเชียลแอสเซท) ทั่วโลกที่ปัจจุบันมีอยู่ 500 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันมูลค่าตลาดคริปโทฯ มีทั้งหมด 0.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ที่มีมูลค่า 100 ล้านล้านดอลลาร์มูลค่าตลาดหุ้นที่ 70 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เพียงเงินที่นำมาลงทุนจะต้องเป็นเงินเย็นที่ไม่มีผลต่อค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวันหรือเงินที่ต้องใช้ในระยะเวลา 1-2 เดือน รวมทั้งต้องมีความรู้ทางการเงินมากขึ้นด้วย

สิ่งใหม่พร้อมความหลอกลวง

“รอม” อธิบายเพิ่มเติมให้เห็นว่า Cryptoassets คือสิ่งที่มีมูลค่าสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ และมีอยู่หลายประเภท เช่น เหรียญหรือโทเคน บัตรกำนัล และหนึ่งในนั้นคือ Cryptocurrency อย่าง บิตคอยน์ เอธิเรียม ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก่อน เพราะกลายเป็นสิ่งที่คนมองว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือกประเภทหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็มีมากกว่า 1,600 ชนิด

เมื่อคริปโทฯ ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงยังมีความผันผวนมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมอย่างหุ้นหรือพันธบัตร และยังไม่มีการประยุกต์สูตรสำเร็จที่เคยเรียนมาเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์การลงทุนในคริปโทฯ เป็นเรื่องปกติที่สิ่งใดไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มของมันได้ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงมหาศาล

“กลัวที่คนจะเจตนาเข้าไปแบบตั้งใจเกินไป ซึ่งขณะที่ทุกอย่างยังอยู่บนความผันผวนและความใหม่ จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการหลอกลวงจากการลงทุนได้ทั้งนั้น และคริปโทฯ กว่า 1,600 ชนิด ไม่ใช่ทุกอันที่เป็นของจริง ดังนั้นต้องเข้าใจลักษณะของการลงทุนและระดมทุนไอซีโอ เพราะธุรกิจที่ระดมทุนไอซีโอจะสำเร็จเหมือนกูเกิลมีหนึ่งในร้อย ส่วนใหญ่ 80-90% คือไม่สำเร็จ”

สิ่งที่ต้องระวังคือ การบอกว่านั่นคือความสำเร็จ อย่างบิตคอยน์อาจจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นการของการบล็อกเชน แต่สิ่งที่พัฒนาตามหลังออกมาสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ที่สนใจลงทุนควรศึกษาเรียนรู้ มองว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงสูงเพราะเป็นเรื่องใหม่ซึ่งปกติจะมีความผันผวน ดังนั้นต้องมีการศึกษารายละอียดดีๆ ตามให้รู้ ดูให้แน่ โดยต้องคำนึงตลอดเวลาว่า ก็มีกลุ่มคนที่คิดแบบโจรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาหลอกลวงได้เสมอ และต่อให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ก็มีความเสี่ยงจะล้มได้เช่นกัน

การระดมทุนไอซีโอ

ยุคทองของไอซีโอได้ผ่านไปแล้ว ไม่ง่ายที่จะเห็นการทำไอซีโอ 3 วัน แล้วได้เงินไปแบบเมื่อก่อน แล้วก็เกิดบรรดาผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูเรื่องไอซีโอและคริปโทฯ ตามมามากขึ้น แต่ปัจจุบันหน่วยงานทางการของหลายประเทศให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากขึ้นหลังเห็นว่านำเรื่องผลตอบแทนที่สูงมาล่อใจผู้ลงทุน ประกอบกับตอนนี้ผู้ลงทุนเริ่มมีความเข้าใจและระมัดระวังกว่าเมื่อก่อน อย่างน้อยเกิดการคิดว่าต้องมีการทำเพื่อการลงทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีจริง หนังสือคำชี้ชวนลงทุน (ไวท์เปเปอร์) ก็ต้องมีน้ำหนักมากขึ้น

...สิ่งใหม่เกิดขึ้นดีเสมอ แต่การก้าวไปยังสิ่งใหม่หรือโลกใหม่ก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะบางครั้งก้าวไปโดยไม่รู้จังหวะและไม่ศึกษารายละเอียดให้ดี อาจจะทำให้กลายเป็นสิ่งเก่าที่เป็นภาพจำที่เจ็บปวดของเราก็ได้...