posttoday

แบ่งปัน/บริจาค: แปรจาก “ให้” ไปสู่ “สร้าง”

13 มกราคม 2559

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

สำหรับคนทั่วไปแล้ว ความเอื้ออาทรแก่ผู้อื่นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันหรือการบริจาค แต่สำหรับบริษัทห้างร้านนั้นอาจมาจากหลายปัจจัย เราจะมาลองดูว่าเมื่อองค์กรธุรกิจเกิดแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว (ไม่ว่าเกิดด้วยแรงจูงใจใดๆ ก็ตาม) เขามี “วิธีการ” อย่างไรบ้าง และไม่ให้กระทบต่อกิจการได้อย่างไร เพื่อให้โครงการช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมเดินหน้าไปอย่างสม่ำเสมอ และเอื้อต่อสังคมได้อย่างแท้จริง

วิธีการ “ให้” นั้นอาจทำได้หลายแบบ หนึ่งในวิธีที่นิยมและเห็นกันบ่อยคือกำหนดเป็นสัดส่วนต่อยอดขายหรือกำไร ที่เรียกกันว่า Marginal Giving  อย่างเช่นบริษัทผลิตและจำหน่ายรองเท้าอาจบริจาคเงิน 5% ของรายได้ เพื่อผลิตขาเทียมให้ผู้พิการ ด้วยวิธีนี้ ปริมาณเงินบริจาคจึงสอดคล้องกับสถานะของกิจการขณะนั้น เรียกได้ว่า “มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย”  บลจ.บัวหลวงได้ใช้วิธีการดังกล่าวเช่นกัน โดยกำหนดให้แบ่งปันค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนคนไทยใจดี (BKIND) 40% ให้กระจายไปสู่องค์กรหรือโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ พึงสังเกตว่าวิธีนี้จะผนวกการแบ่งปันหรือบริจาคเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารกิจการและผลกำไรสุทธิขององค์กร

อย่างไรก็ตาม วิธีแบบ Marginal  Giving อาจไม่เหมาะกับทุกกิจการเสมอไป โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เพราะอาจสร้างปัจจัยเสี่ยงบางด้าน เช่น ส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายกับผลกำไรที่หดแคบลง จนอาจจำกัดเงินทุนของบริษัทที่ใช้ในการจัดจ้างบุคลากร เป็นเงินสำรองสะสม หรือเพื่อใช้จ่ายด้านการตลาด  เหนือไปกว่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ยังตัดสินใจบริโภคด้วยคุณภาพหรือระดับราคาเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นรวมถึงเจตจำนงเพื่อสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรอง

โครงการที่ไม่ได้ผ่านการคิดทบทวนอย่างรอบคอบ แม้จะเริ่มด้วยเจตนาดีก็ตาม อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น บริษัทผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าบริจาคเงินให้โครงการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นการแบ่งปันโดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับธุรกิจตัวเอง หรือธุรกิจบุหรี่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยรักษาโรคมะเร็ง แต่ตัวผลิตภัณฑ์เองนั้นกลับมีส่วนสร้างภาวะเสี่ยงให้เกิดโรคร้าย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจบางแห่งอาจนำความชำนาญเฉพาะทางหรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปสานต่อ เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมได้อย่างแท้จริงยิ่งกว่า และยิ่งมีส่วนเอื้อให้โครงการประสบผลสำเร็จอย่างยืนยาว ดังเช่นบริษัทระดับโลกแห่งหนึ่งยึดถือแนวทาง Marginal Giving มาตลอด  นั่นคือผู้ผลิตโรงเท้ายี่ห้อ TOMS กับโครงการ One-for-One  โดย TOMS จะบริจาครองเท้าที่บริษัทผลิตให้ผู้ด้อยโอกาสตามจำนวนคู่ที่บริษัทขายได้ ดังนั้นแล้วบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพียงต้นทุนการผลิตเท่านั้น ย่อมต้องประหยัดกว่าใช้เงินซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นมาบริจาค หรือผลิตขึ้นใหม่เพื่อบริจาค  ขณะที่ฝ่ายผู้รับยังได้รับของที่มีคุณภาพเท่าเทียมหรืออาจเหนือกว่าสินค้าในท้องตลาดก็ได้
เช่นเดียวกับ Microsoft ซึ่งมีโครงการบริจาคโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (non-profit organizations) เห็นชัดว่า Microsoft แทบจะไม่มีต้นทุนในการดำเนินโครงการเลย แต่กลับช่วยองค์กรเหล่านั้นลดรายจ่ายลงได้

ดังนั้นแล้ว “ให้” เพียงอย่างเดียวอาจไม่ครบถ้วน บริษัทที่มุ่งมั่นแบ่งปันให้สังคมอย่างจริงจัง  จะต้อง “สร้าง” วัฒนธรรมของการแบ่งปันให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและองค์กร โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ผ่านวิธีการแบบ Marginal Giving เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด