posttoday

โค้งสุดท้ายปลายปีกับทางเลือกเพื่อลดหย่อนภาษี

01 ตุลาคม 2556

โดย...ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ CEO บลจ.วรรณ

โดย...ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ CEO บลจ.วรรณ

สวัสดีครับ ตอนนี้เริ่มใกล้เข้าสู่ปลายปี 2556 กันแล้ว คงเป็นจังหวะที่นักลงทุนหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะวัยทำงานคงกำลังเลือกพิจารณาการลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีสำหรับรายได้ในปีนี้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งด้วยวัตถุประสงค์ของการลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ทำให้นักลงทุนต้องให้ความสำคัญต่อแนวทางการลงทุน รวมทั้งนโยบายการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับตนเอง เพื่อเพียงพอหรือลดภาระค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากสวัสดิการอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

ในช่วงหลังเกษียณนั้น นักลงทุนมักจะมีรายได้ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไร สำหรับการเตรียมเงินให้เพียงพอกับชีวิตหลังเกษียณ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับทุกท่าน เพราะจำนวนเงินดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ ได้แก่ อายุปัจจุบัน อายุที่คาดว่าจะเกษียณ อายุขัย เงินเก็บ และเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณอายุ รวมไปถึงสุขภาพร่างกายของแต่ละท่านด้วย

แต่เราสามารถวางแผนและบริหารเพื่อการเกษียณเพื่อรองรับชีวิตอนาคตได้จากหลักการเบื้องต้น คือ 1) นักลงทุนต้องคาดการณ์ภาระค่าใช้จ่ายหลังเกษียณและคิดกลับด้วยอัตราเงินเฟ้อ เพราะเนื่องจากเงินที่จะใช้ในอนาคตจะมีมูลค่าลดลงไปตามอัตราเงินเฟ้อ (หรือราคาสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น) หรือกล่าวได้ว่าเราจะสามารถซื้อของได้น้อยลง เนื่องจากราคาสินค้าในอนาคตจะเพิ่มขึ้น และเมื่อได้จำนวนเงินที่ต้องใช้แล้วจึง 2) นำมาคำนวณกลับว่าควรสะสมเงินออมเพื่อลงทุนเท่าไรต่อเดือน ซึ่งหากนักลงทุนมีเงินออมในแต่ละเดือนไม่พอแล้วนั้น นักลงทุนคงต้องลดการใช้จ่ายในปัจจุบันเพื่อเก็บออมมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายหลังเกษียณลงเพื่อให้เงินออมหลังเกษียณสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ หลังจากนั้น

3) นักลงทุนต้องพิจารณาถึงแนวทางการลงทุน เพื่อให้สามารถสู่เป้าหมายการออมได้ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ซึ่งแนวทางนี้นักลงทุนคงต้องเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ตนเองยอมรับได้ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ (Asset Allocation) และลงทุนในตราสารที่หลากหลาย (Multi Asset Classes) เพื่อให้เหมาะสมและล้อไปกับแต่ละสถานการณ์การลงทุน หนึ่งแนวทางที่จะแนะนำสำหรับนักลงทุนระยะยาวเพื่อใช้หลังเกษียณอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ได้แก่ การสร้างวินัยในการลงทุน โดยลงทุนในลักษณะของ “การซื้อขายแบบถัวเฉลี่ย” (Dollar Average Cost : DCA) โดยมีหลักการในการตั้งเป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนในแต่ละปีเป็นหลัก และกระจายการลงทุนไปตามช่วงเวลาต่างๆ โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้มีข้อดีคือ มีโอกาสทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนลดลง และเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุนผิดจังหวะได้ด้วย

อย่างไรก็ดี การคำนวณดังกล่าวอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งผมขอแนะนำให้นักลงทุนสามารถเข้าไปลองคำนวณผ่านเว็บไซต์ บลจ.วรรณ ได้ โดยคำนวณผ่านโปรแกรมที่มีชื่อว่า “ตรวจสุขภาพการเงินวัยเกษียณ” โดยแจ้งข้อมูลที่จำเป็น เช่น อายุปัจจุบัน อายุเกษียณ เงินออมปัจจุบัน ฯลฯ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถแนะนำได้ว่านักลงทุนควรมีเงินออมที่จะนำไปลงทุนในแต่ละเดือนเท่าไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินออมในยามเกษียณอายุ และควรลงทุนจำนวนเงินเท่าไร สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท รวมถึงแนะนำกองทุนที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องไปกับระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่นักลงทุนแต่ละท่านยอมรับได้ เช่น สัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน ตราสารหนี้ ตลาดเงิน ทองคำ และน้ำมัน เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับตัดสินใจลงทุน และบรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อใช้ยามเกษียณ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวเป็นแนวทางในเบื้องต้นสำหรับด้านการแนะนำในการลงทุน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ของ บลจ.วรรณ เพื่อความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะบุคคลของแต่ละท่านครับ