posttoday

ปั้นฝันหมอลำกลอนน้อย

11 มีนาคม 2556

อ้ายๆ ขอหมอลำแหน...เดอะสตาร์ก็มีแล้ว เอเอฟก็มีแล้ว แล้วไหนจะเดอะวอยซ์กับไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์อีกเล่า ล้วนแต่เป็นเวทีค้นหาดาวดวงใหม่ชั่วข้ามวัน

โดย...โจ เกียรติอาจิณ / ภาพ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

อ้ายๆ ขอหมอลำแหน...

เดอะสตาร์ก็มีแล้ว เอเอฟก็มีแล้ว แล้วไหนจะเดอะวอยซ์กับไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์อีกเล่า ล้วนแต่เป็นเวทีค้นหาดาวดวงใหม่ชั่วข้ามวัน ครานี้ก็ถึงคิวแจ้งเกิดของหมอลำสุดสะแนนจากแดนอีสานให้แก่วงการกันบ้าง

การประกวดไม่ใช่เรียลิตี ไม่ได้ออกทีวี ไม่มีกรรมการเป็นดารา หรือนักร้องดังมานั่งวิจารณ์ในฐานะคอมเมนเตเตอร์ มีก็แต่บรมครูชั้นนำด้านหมอลำที่ขันอาสาขอปั้นฝันเยาวชนบ้านนาสู่ตำแหน่งซุป’ตาร์หมอลำ

เจ้าภาพใหญ่ “จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม” ผุดไอเดียนี้ ด้วยเพราะอยากจะสืบสานตำนานการแสดงพื้นบ้านไว้ตราบนาน จึงดำริเป็นผู้ดำเนินการประกวดคัดสรรทีมหมอลำทั่วภาคอีสาน จากนั้นก็เทียบเชิญมาประชันกัน โดยมีโจทย์หลักคือ หมอลำกลอน

ภารกิจตามล่าหาซุป’ตาร์หมอลำกลอนนั้นเริ่มต้นขึ้นอย่างสนุก ดินแดนไกลปืนเที่ยงหลายโรงเรียนหลายจังหวัด กระทั่งโรงเรียนมัธยมปลายชื่อดังประจำอำเภอและจังหวัด ต่างพร้อมใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด รอบแรกผ่านไปก็ถึงรอบออดิชันและรอบประชันฝีมือจริงบนเวที ความเข้มข้นและลุ้นระทึกยิ่งกว่านั่งดูหนังแอ็กชัน ไซไฟเสียอีก

และแล้วกรรมการก็เทใจให้ทีมชนะเลิศตกเป็นของหมอลำกลอนน้อย จาก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย โรงเรียนโคกคอนวิทยาคม ที่อาศัยความเก๋าทั้งเสียงร้อง ลีลาการโชว์ ตลอดจนทักษะหมอลำกลอนที่เก่งเกินตัว ได้แชมป์หมอลำสุดสะแนนไปครอง

อาจารย์พีรดา พูลเพิ่ม ผู้คุมทีมและอาจารย์ที่ปรึกษา ยิ้มแก้มปริ เล่า ว่า ไม่คาดคิดว่าจะชนะ เพราะทุกทีมที่ประกวดเก่งๆ ทั้งนั้น แต่พอหวยออกที่ทีมโรงเรียนโคกคอนวิทยาคม เธอก็รู้สึกปลาบปลื้มที่ฝันของเด็กๆ กับการเป็นหมอลำกลอนน้อยเป็นจริงสมใจ

“เริ่มตั้งวงปี 2545 ตอนนั้นเป็นแค่วงโปงลาง “สีทันดร” ตลอดการฝึกซ้อม 10 ปี ก็ครั้งนี้นี่แหละค่ะที่เน้นหมอลำกลอนเลย แรกๆ ลูกศิษย์ก็ยังมีไม่ค่อยเยอะ สิ่งหนึ่งที่ครูเห็นคือความตั้งใจของเด็กๆ ที่จะทำวงกัน ฝึกกันอย่างหนัก หลังเลิกเรียนทุกวัน ทุกคนพร้อมใจมาซ้อมกัน เงินสนับสนุนก็ไม่มี เครื่องดนตรีก็ไม่มี เคยทำผ้าป่าหาทุนก็เคย ครูว่าทุกคนทำเพราะใจรักอย่างเดียวจริงๆ เลยค่ะ”

การคว้ารางวัลครั้งนี้ ไม่เพียงสร้างปรากฏการณ์สำคัญให้แก่โรงเรียนและชาวคณะ แต่เรียกว่าเป็นการพลิกฟื้นมรดกการแสดงพื้นบ้านอีสานที่ดูซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวา เป็นสีสันที่น่าจับตาของวงการหมอลำวัยทีนที่พร้อมจะเจริญรอยตามรุ่นปู่รุ่นย่า

“ครูก็อยากให้การได้รางวัลเป็นมากกว่ากำลังใจ อยากให้มันนำพาให้เด็กๆ รุ่นใหม่ก้าวเข้ามาเป็นตัวตายตัวแทนคนเฒ่าคนแก่ที่กำลังจะโรยรา ก็หวังเล็กๆ ว่าจะมีเด็กๆ มาสมัครเป็นหมอลำกลอนมากยิ่งขึ้น” อาจารย์พรีดา บอก

ขณะที่ อาจารย์สียะตรา คันธี ศิษย์เก่าโรงเรียนโคกคอนวิทยาคม ดีกรีปริญญาตรีการแสดงพื้นบ้านอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ทำหน้าที่ฝึกสอน ยอมรับว่าไอเดียแรกเริ่มนั้น ไม่ได้คิดประกวดประขัน แค่อยากสืบสานศิลปะการแสดงให้คงอยู่คู่สังคมอีสานบ้านเฮา

“ที่อีสาน คนอีสาน นอกจากจะมีเสียงแคนเป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ยังต้องมีเสียงหมอลำ ขาดกันไม่ได้ ผมก็เลยเข้ามาช่วยอาจารย์พีรดาทำคณะหมอลำ ก็อยากเอาความรู้ที่ตัวเองร่ำเรียนมาต่อยอดให้หมอลำอยู่คู่คนอีสานและสังคมอีสาน อย่างการประกวดนี่ก็ไม่ได้หวังอะไรเลยครับ คิดว่าเป็นโอกาสที่จะให้เด็กๆ ได้โชว์ เป็นการหาประสบการณ์มากกว่ารางวัล”

มากกว่ารางวัล มากกว่าประสบการณ์ มากกว่าคำชื่นชม ก้าวสำคัญของคณะหมอลำกลอนโรงเรียนโคกคอนวิทยาคมในวันนี้ไปไกลกว่าที่คิด นั่นคือพวกเขากำลังเตรียมตัวไปโรดโชว์ ณ ร้านอาหาร จิม ทอมป์สัน ประเทศสิงคโปร์ ต้นเดือน พ.ค.

และมากกว่านั้น คณะหมอลำกลอนน้อยจาก จ.หนองคาย ยังจะมีการแปลงคำร้องหมอลำกลอนเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย เป็นความตั้งใจหนึ่งที่ไม่ใช่ให้ต่างชาติยอมรับหรือเข้าใจในวัฒนธรรมไทย แต่นี่คือการยกระดับให้การแสดงพื้นบ้านเป็นที่ประจักษ์แจ้งในฐานะหมอลำกลอนอินเตอร์

“ก็คงไม่ได้แปลงทั้งหมดหรอกครับ คงเป็นแค่บางส่วนบางกลอน เพราะถึงยังไงผมก็ยังอยากให้หมอลำกลอนเป็นภาษาอีสานที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบคนอีสาน ภาษาอีสาน แต่ที่ต้องแปลงเป็นกลอนลำเป็นภาษาอังกฤษ ก็เพราะอยากให้คนต่างชาติเห็นว่าหมอลำกลอนพร้อมจะปรับตัวตามกระแสโลกแล้วนะ”  

จากรุ่นครูบอกเล่าสู่รุ่นหลาน

“ฉวีวรรณ ดำเนิน” ศิลปินแห่งชาติด้านศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2536

“เป็นเรื่องน่ายินดีมากถ้าเด็กรุ่นใหม่จะหันมาสนใจการแสดงพื้นบ้าน ก็อยากให้มีเยอะๆ กว่านี้ โลกหมอลำจะได้ตื่นตัวและคึกคัก ส่วนตัวครูก็อยากสนับสนุนให้มีกันเยอะๆ การโกอินเตอร์ด้วยการแปลงกลอนลำเป็นภาษาอังกฤษ ครูก็ว่าเป็นเรื่องทันสมัยดี แต่การแปลงนั้นก็ควรคงเอกลักษณ์หมอลำกลอนเอาไว้ด้วย อย่าละทิ้งสิ่งดีงามและหัวใจของกลอนลำ อย่าคิดแค่ว่าจะทำให้หมอลำกลอนทันสมัยหรือโกอินเตอร์ เพราะครูยังเชื่อว่าเสน่ห์หมอลำกลอนก็ยังต้องว่าด้วยวัฒนธรรมอันดีงามของคนอีสานและหลักคำสอนศาสนา หรือความเชื่อโบราณ ไม่ใช่เน้นเอาแต่สนุกสนานเข้าว่า อย่างนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นการนำหมอลำกลอนสู่อินเตอร์ได้ มันจะเป็นหมอลำผีบ้าผีบอมากกว่า”

ท้าฝันสนั่นเวที 2 หมอลำกลอนน้อย

สุรพล ทองด้วง หมอลำชาย : “ตอนแรกไม่ได้ชอบหรอกครับ อาจารย์พีรดาเป็นคนมาชวนให้ไปทดลองร้องก่อน เพราะเห็นว่าผมชอบอ่านทำนองเสนาะ ฝึกหนักครับ มันไม่ใช่แค่เสียงดี แต่ต้องอาศัยเทคนิคจำด้วยครับ ต้องจำกลอนลำไม่ต่ำกว่า 3 หน้ากระดาษ ท่องจนจำได้ 4 วันครับกว่าจะจำได้ ก็มีครับที่จำไม่ได้ เคยหลุดบนเวทีนะครับ แต่ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ผ่านไปได้ ต้องใช้ไหวพริบที่มีอยู่ตอนนั้น ไม่ก็ใช้สีหน้าท่าทางเข้าสู้”

จินตนา แก้วอาษา หมอลำหญิง : “ก่อนนั้นก็จะเคยดูและรู้จักแต่หมอลำซิ่ง ชอบไปดูค่ะ หมอลำซิ่งสนุกดี ดนตรีมีจังหวะ พอมาเรียนที่นี่ก็ได้รู้จักหมอลำกลอน ได้ฝึกได้หัดตอนอยู่ ม.4 แรกๆ ก็รู้สึกว่ายากนะคะ แต่พอฝึกบ่อยๆ ก็สนุกกับมัน อินกับมัน ทำให้หนูเข้าใจความเป็นอีสานและคนอีสานมากขึ้น เพราะกลอนลำจะพูดถึงความเป็นอีสานและคนอีสานโดยเฉพาะ ความยากมันอยู่ที่ต้องจำกลอนลำและตอนขึ้นโชว์ก็จะตื่นเต้นมากๆ แต่ต้องนิ่งให้ได้ ไม่งั้นสมาธิหลุด”

คืออิหยัง? หมอลำกลอน

หนึ่งแขนงที่แยกย่อยมาจากตระกูลหมอลำ ที่กำลังจะหาดูหาฟังยากเต็มทน ไม่เหมือนหมอลำเพลิน ไม่ใช่ลูกทุ่งผสมหมอลำที่เห็นๆ กันกลาดเกลื่อน แล้วก็ไม่ได้ชวนให้ลุกขึ้นมาแดนซ์ด้วยจังหวะตึงโป๊ะเช่นหมอลำซิ่ง

หมอลำกลอน มาจากการรวมกันของ 3 คำ ได้แก่ “หมอ” หมายถึง ผู้มีความชำนาญ “ลำ” คือการบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองอันไพเราะขณะที่ “กลอน” ก็เป็นคำร้องที่แต่งขึ้นลักษณะคล้ายกับบทกลอน ซึ่งสิ่งที่อยู่ในกลอนลำนั้นจะว่าถึงศาสนาเป็นหลัก เช่น พุทธประวัติ รวมทั้งบุญคุณของบิดามารดาและครูบาอาจารย์ วิถีชีวิตคนอีสาน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ขาดไม่ได้คือจารีตประเพณีที่ดีงามของคนอีสาน หรือ “ฮีต 12”

บางคราก็อาจใส่กลอนลำเชิงเกี้ยวพาราสี มุขตลกที่เรียกว่า “สอย” แต่ไม่ว่าจะกลอนลำเรื่องอะไร หมอลำกลอนก็ห้ามมีภาษาสองแง่สามง่าม หยาบคาย ยั่วยุ เสียดสี เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ถือว่าเป็นหมอลำกลอนขนานแท้