posttoday

ควันหลง!!! เทศกาลหนังสั้น 16 ปีแห่งความหลัง

01 กันยายน 2555

โดย...โจ เกียรติอาจิณ / ภาพ ชลิดา มูลนิธิหนังไทย อาทิตย์ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข ศิวโรจณ์ ภาพ www.onopen.com ธัญญ์วาริน ภาพ ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ ทรงยศ ภาพ นิตยสาร Barefoot

โดย...โจ เกียรติอาจิณ / ภาพ ชลิดา มูลนิธิหนังไทย อาทิตย์ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข ศิวโรจณ์ ภาพ www.onopen.com ธัญญ์วาริน ภาพ ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ ทรงยศ ภาพ นิตยสาร Barefoot

เลขสวยยยยย!!! อะไม่ได้บอกใบ้ หรือเกี่ยวอะไรกับหวยที่จะออกงวดนี้นะเออ

แต่ 16 คือจำนวนครั้งและปีที่จัด “เทศกาลหนังสั้น” ต่างหากเล่า

ปีที่ 16 ก็ยังป๊อป!!!

เผลอแป๊บๆ ก็ก้าวผ่านไปอย่างงามสง่า ครั้งล่าสุดเพิ่งประกาศผลให้เป็นที่กล่าวขาน มีนักทำหนังสั้นทั่วฟ้าเมืองไทยพาเหรดส่งผลงานเข้าชิงชัย ทว่าก็มีไม่กี่รายหรอกที่ฝ่าด่านอรหันต์กรรมการจอมเฮี้ยบได้

หนึ่งในนั้น คือ “ธนา ปัทมาภา” ที่คว้ารางวัล “หนังสั้นขวัญใจ” กับผลงาน “ยอดมนุษย์” เขามาแบบเหนือชั้น ด้วยเรื่องราวเข้มข้น ทั้งๆ ที่นำเสนอแสนเรียบง่าย แต่จี๊ดดดดด ด้วยงานถ่ายภาพและเนื้อหา จึงโดนใจจังๆ จนกลายเป็นหนังขวัญใจคนดูและเหล่ากรรมการ

ควันหลง!!! เทศกาลหนังสั้น 16 ปีแห่งความหลัง

“ครั้งแรกของเวทีนี้ครับ แต่เคยส่งเวทีอื่นมาก่อน ผมสนใจประเด็นมากกว่าเทคนิค เรื่องนี้ถ่ายด้วยฟิล์มบ้างบางส่วน แต่ผมก็ให้น้ำหนักกับเนื้อหามากกว่า ผมมองว่าหนังจะน่าดูได้ เพราะสามารถเข้าถึงอารมณ์คนดูด้วยเนื้อหาหรือบท ไม่ใช่เทคนิคหรืองานโปรดักชันล้ำอย่างเดียว”

ผลงานของธนาเป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ผลงานเกือบ 500 เรื่องที่ส่งเข้าประกวด จากรอบแรกสู่รอบสุดท้าย ไม่ง่าย จากการฉายแบบมาราธอนเพื่อคัดกรองโดยคนดู จนมาถึงการคว้ารางวัล ไม่ธรรมดา

ด้วยความโดดเด้งและคุณสมบัติดังที่ว่ามานี่เอง งานกำกับของธนาจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะใจ มีรางวัลติดมือกลับบ้าน ซึ่งเจ้าตัวก็ย้ำ จะมุ่งมั่นเอาดีกับการทำหนังสั้น เพื่อหวังนำประสบการณ์ไปต่อยอดทำงานในวงการหนังที่ใฝ่ฝัน

“ผมว่าการประกวดก็เป็นบันไดดาวที่จะต่อยอดไปถึงฝัน แต่แค่บางส่วนเท่านั้นนะครับ ที่เหลือมันอยู่ที่ตัวผมเองแล้วละว่าจะสานฝันต่อจนสำเร็จมั้ย ประสบการณ์ก็สำคัญ และประสบการณ์จากการทำหนังสั้นนี่แหละครับ ผมว่าสำคัญมากๆ”

เหนื่อยหนัก 15 ปี แต่แฮปปี้ (จัง)

ถ้าเป็นคน อายุ 16 ก็ถือว่ากำลังอยู่ช่วงวัยขบเผาะ ชีวิตเริ่มเข้าสู่โหมดหนุ่มสาว แตกเนื้อแตกหน่อกันดังเปรี๊ยะๆ แต่นี่คือเทศกาลหนังสั้น 16 ฝนล่วงผ่านย่อมไม่ธรรมดา กว่าที่จะมายืนตั้งลำ ด้วยพลังไอเดียแรงกล้า ในฐานะเวที “ปล่อยของ”

“ชลิดา เอื้อบำรุงจิต” รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตัวตั้งตัวตีที่ทำให้เกิดเทศกาลหนังสั้น เล่าย้อนให้ฟังถึงการทำงานตลอด 15 ปี

ควันหลง!!! เทศกาลหนังสั้น 16 ปีแห่งความหลัง

“5 ปีแรกนี่จะเหนื่อยไปกับการทำความเข้าใจว่า หนังสั้นคืออะไร ไม่ว่าจะกับคนที่จะส่งสารให้เรา หรือกระทั่งสื่อเองก็ด้วย ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความเป็นหนังสั้น เพราะความเข้าใจของคน ณ ตอนนั้น จะคิดว่าหนังคือต้องฉายในโรงและต้องยาวเท่านั้น”

เมื่อความเข้าใจต่อหนังสั้นเริ่มตรงกัน แต่เส้นทางการส่งผ่านหนังสั้นจากคนทำถึงคนดู ก็ยังไม่ราบรื่นซะทีเดียว ยิ่งเฉพาะเงินสนับสนุน หรือสปอนเซอร์

“เงินคือปัญหาใหญ่นะ สปอนเซอร์ก็ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร บางเจ้าอยากช่วย แต่ขอเปลี่ยนชื่อรางวัลได้มั้ย หรือจัดงานโดยใส่ชื่อสินค้าเขาได้มั้ย ซึ่งดิฉันก็ต้องบอกไปว่า อ่อ...ไม่สะดวกหรอกค่ะ ไม่เป็นไรหรอกค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่าชื่อรางวัลยังสำคัญอยู่ สำคัญในแง่ว่ามันจะเป็นการเจิมให้กับคนที่ได้รางวัลมากกว่าค่ะ”

ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ เทศกาลหนังสั้นก็เช่นกัน ความไม่เข้าใจน้อยลง เหลือเพียงความสนใจ ก็เริ่มประดังเข้ามา แม้อาจจะไม่มากมายหรือเปรี้ยงปร้าง ด้วยจำนวนคนถล่มทลาย หรือการถูกนำเสนอให้เป็นข่าวดังในสื่อ แต่เวทีนี้ก็กลายเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางสำหรับคนมีไฟที่อยากโชว์ออฟ

“คนที่อยากทำหนังแบบที่ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรม หรือค่ายใหญ่ๆ ยังมีอยู่เยอะนะ ดิฉันเชื่ออย่างนั้น ซึ่งเวทีนี้แหละ ที่จะเป็นเวทีของคนเหล่านั้น ถ้ามันคือสนามเด็กเล่น ก็มีคนเริ่มเข้ามาวิ่งเล่นเยอะขึ้น เมื่อเทียบกับปีแรกๆ ที่มีแค่ 30 เรื่อง ปีต่อๆ มา รวมทั้งปีนี้ ก็ถือว่าพอใจค่ะ กับการทำงานสเกลเล็กๆ แบบเจียมเนื้อเจียมตัว กับฟีดแบ็กที่คนทำหนังและคนดูหนังสนใจ

ควันหลง!!! เทศกาลหนังสั้น 16 ปีแห่งความหลัง

จริงอยู่ที่มันอาจจะสมบูรณ์ที่สุด มีดีและไม่ดี คละเคล้ากันไป แต่ที่สุดแล้ว เราก็ได้คนที่ใช่ที่สุดและตรงกับสิ่งที่เรากำลังหาอยู่ และได้สร้างกลุ่มคนให้เป็นชุมชนเล็กๆ ขึ้นมา ทำให้เห็นความคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำใคร ถ้าไม่คิดจะเป็นจะตายกับรางวัล ดิฉันว่านี่คือพื้นที่สำหรับปล่อยของด้วย เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้กันและกันด้วย ให้คนที่รักหนังมาเจอกัน เพื่อเปิดไปสู่การทำงานในวงการ”

ผลิดอกออกผล คนทำหนังยาว

เทศกาลหนังสั้นเริ่มเปิดพื้นที่ประกวดกันอย่างจริงจังเมื่อปี 2540 ถ้าจะให้นั่งนับคนที่คว้ารางวัล ก็ถือว่ามากโขอยู่ ใครเป็นใครบ้างน่ะเหรอ ลองคลิกไปดูรายชื่อได้ที่ www.thaifilm.com

แต่ที่คัดสรรมาให้รู้จักนี้ พวกเขาคือศิษย์เก่าอันมีรางวัลเทศกาลหนังสั้นแปะหราอยู่หน้าผาก ซึ่งการันตีในฝีมือว่าเจ๋งพอตัว จนสามารถก้าวไปยืนอยู่แถวหน้า หลายคนเป็นผู้กำกับหนังอินดีระดับนานาชาติ บางรายมีโอกาสทำหนังยาว ผลิตผลงานฮิตๆ ติดบอกซ์ออฟฟิศมานับไม่ถ้วน บางคนก็ยึดอุดมการณ์ทำหนังอิสระ ไม่ง้อนายทุน ไม่พึ่งค่าย

“โสรยา นาคะสุวรรณ” ก็เป็นศิษย์เก่า วันนั้นเธอไม่ใช่ผู้ชนะเลิศ แต่เธอก็มาชนะใสๆ ในหนังยาวเรื่องแรก “Final score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” ที่มัดใจแฟนๆ ได้อยู่หมัด

“บุญส่ง นาคภู่” “สันติ แต้พานิช” “อุรุพงศ์ รักษาสัตย์” ก็เคยครองรางวัลมาแล้ว หลังจากนั้นทั้ง 3 ก็มีผลงานหนังยาว “สถานีสี่ภาค” ของบุญส่ง “เสือร้องไห้” สารคดีน้ำตาซึมของสันติ “สวรรค์บ้านนา” หนังชีวิตง่ายงามของอุรุพงศ์

“ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับดัง (ในโลกอินสตาแกรม) คว้ารองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือก (ระดับอุมศึกษา) จากเวทีนี้ ก่อนจะกรุยทางสู่การทำหนังยาวเต็มตัว เปรี้ยงปะล้ำปะเหลือ คงไม่พ้น “รักแห่งสยาม”

ไม่หมดแค่นั้น รวมมิตรศิษย์เก่ายังมี “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ผู้กำกับ “เฉิ่ม” “กอด” 2 ผู้กำกับหนังผีสุดป๊อป “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” “ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ” “บรรจง ปิสัญธนะกูล” ก็เริ่มต้นจากหนังสั้น

นี่ก็ใช่ “โสภณ ศักดาพิศิษฏ์” ผู้กำกับ “ลัดดาแลนด์” รวมถึง “ทรงยศ สุขมากอนันต์” เคยคว้ารางวัลรัตน์ เปสตันยี (ระดับประชาชน) ในครั้งที่ 6 จาก “ด.เด็ก ช.ช้าง” จบหนังสั้นไม่นาน เขาก็มีหนังตามมาอีกเป็นพรวน “แฟนฉัน” “เด็กหอ” “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” ออกฉายปีที่แล้วก็ “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน”

ควันหลง!!! เทศกาลหนังสั้น 16 ปีแห่งความหลัง

“อาทิตย์ อัสสรัตน์” เจ้าของหนังเหงา “Wonderful Town” กับ “ไฮโซ” ก็เคยได้รับการเจิมจากเทศกาลนี้ เช่นเดียวกับผู้กำกับเปรี้ยวปรี๊ดดดด “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ก็สร้างชื่อจากหนังสั้น ก่อนจะไปกระฉ่อนกับหนังฉาวที่ถูกแบนห้ามฉาย “Insects in the Backyard” ต่อด้วยหนังรักหลากเพศ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก”

อีกรายนี้ที่เรามีโอกาสคุยด้วย “ศิวโรจณ์ คงสกุล” เจ้าของหนังรักรสหวานแต่ไม่เลี่ยน “ที่รัก” ก็เป็นศิษย์เก่าเวทีนี้ เขาเล่าว่า ที่ส่งผลงานเพราะอยากแสดงฝีมือ ไม่ใช่อยากได้รางวัล หรืออยากเก๋

“ตอนที่ผมส่งคำว่าหนังสั้นมันกำลังฮิตนะ ใครทำหนังสั้น โห!!! เป็นอะไรที่เก๋มากกกกกก จริงๆ ผมไม่ใช่อยากเก๋นะ แต่แค่อยากทำในสิ่งที่อยากทำ รางวัลนี่แทบจะไม่ได้อยู่ในหัวผมเลย เหมือนว่าอยากโชว์ของ อยากปล่อยของ แล้วก็อยากรู้จักหนังสั้นให้มากขึ้นและดีขึ้น เพราะคนมักจะคิดว่า หนังสั้นคือหนังนักเรียน หนังสั้นคือหนังที่ไม่ได้ฉายในโรงใหญ่ ซึ่งผมว่าไม่ใช่นะ และไม่อยากให้มันไกลตัวเกินไป ก็เลยต้องเข้ามาใกล้ชิดกับมัน ด้วยวิธีลงมือทำหนัง”

เจ้าของรางวัลวิจิตรมาตรา (หนังที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ) ครั้งที่ 11 ยอมรับว่าหนังสั้นเปลี่ยนชีวิตเขามาก ทั้งยังพาเขาขยับเข้าใกล้ความฝันในการเป็นผู้กำกับหนังยาวอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเขามีโอกาสทำหนังยาวอิสระเรื่องแรก “ที่รัก”

“ยังไงก็แล้วแต่ จะทำหนังสั้นหรือหนังยาว คนทำต้องซื่อสัตย์กับเรื่องที่ตัวเองกำลังทำ กำลังเล่า ความคมคายในหนัง หรือรสนิยมทางความคิด ผมว่ามันจะตามมา เพราะมันอยู่ในตัวของแต่ละคน ซึ่งคนดูก็จะมองเห็นเองแหละ อย่างหนังเรื่องยาวผมก็แค่ตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากทำ แล้วผมก็ได้ทำ สำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ พอวันที่ออกฉายแล้วมีคนชอบ ผมว่านั่นคือกำไร ที่ต่อยอดมาจากหนังสั้น”