posttoday

รำลึก ครูชาลี อินทรวิจิตร

02 กุมภาพันธ์ 2565

เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์

รำลึก ครูชาลี  อินทรวิจิตร

       

เย็น 30 มค. 65 ณ  วัดธาตุทอง เอกมัย  มีงานพระราชทานเพลิงศพ ครูชาลี อินทรวิจิตร ครูชาลีเสียชีวิตปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564  สิริรวม อายุได้  98 ปี

         นับเป็นศิลปินที่มีอายุยืนยาวอยู่ถึง  5 แผ่นดินด้วยกัน ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง - ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์)  เมื่อปี 2536  ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ  และรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง อาลัยรัก  น้ำตานกขมิ้น และสตรีหมายเลขศูนย์  และรางวัลอื่นๆ มากมาย

         แต่งเพลงไว้มากกว่า 2,000 เพลง  ที่โด่งดังเป็นอมตะหลายเพลง เช่น เพลง  เรือนแพ  แสนแสบ  ท่าฉลอม  สาวนครชัยศรี  จำเลยรัก  หยาดเพชร  ทุ่งรวงทอง เป็นต้น แต่ที่ภูมิใจที่สุดคือ เพลง สดุดีมหาราชา ที่คนไทยทั้งประเทศร้องกันได้เหมือนกับร้องเพลงประจำชาติ

         ผู้เขียนโชคดีได้รู้จักกับครูชาลี  ตั้งแต่ปี 2527  ตอนนั้นเป็นสมาชิกก่อตั้งสโมสรโรตารี บางเขน ด้วยกัน ต้องประชุมกันทุกค่ำวันอังคารที่ ห้องลาดพร้าว โรงแรมเซ็นทรัล ลาดพร้าว

         เพราะเป็นคนสนใจที่มาของเพลงหรือเบื้องหลังเพลง ผู้เขียนจึงพูดคุยไต่ถาม ได้เกร็ดความรู้มาหลายเพลง  อย่างเพลง “ท่าฉลอม”  เกิดขึ้นเพราะถูกพี่สาวต่อว่า  ว่า “ไปแต่งเพลงให้กับท้องถิ่นอื่นๆ  แต่ท่าฉลอม บ้านเกิดตนเอง  กลับไม่ยอมแต่งให้”  หรือเพลง “เรือนแพ” ที่เวอร์ชั่นแรกใช้คำว่า “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน”  แต่ต้องเปลี่ยนก็เพราะตอนนั้นดึกมาก ทนหิวมานาน ไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย จึงเปลี่ยนเป็น “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน”

         แม้กระทั่งเพลง “จำเลยรัก”  ก็แต่งในวงไพ่ดรัมมี่  เพื่อนหยิบแหม่มโพธิ์ดำสเปโตแล้วกักไว้ไม่ยอมทิ้งให้  จึงกลายเป็นวรรคที่ว่า “กักขังฉันเถิดกักขังไป  ขังตัวอย่าขังหัวใจดีกว่า”

         รวมถึงเพลง “อาลัยรัก”  ก็เพราะเพื่อนรัก ชื่อสุวัฒน์ วรดิลก (นามปากการพีพร) ยื่นหนังสือ เรื่อง “สงครามชีวิต” ของ “ศรีบูรพา” มาให้อ่าน ข้อความตอนท้ายหนังสือกลายมาเป็น วรรคสำคัญที่ว่า “แม้มีปีกโผบินได้เหมือนนก  อกจะต้องธนูเจ็บปวดนัก ฉันจะบินมาตายตรงหน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา”

         นักเขียนคู่บุญที่รักและผูกพันกันมาก คือสุวัฒน์ วรดิลก

         ครูชาลี    เล่าให้ฟังว่า

           “วันหนึ่ง  สุวัฒน์ วรดิลก  ต่อว่าผม”

         “ต่อว่า  ว่าไง”  ผู้เขียนถาม

         “บอกว่า ‘ทำไมแต่งแต่เพลงรักประโลมโลก  หรือแต่งเพลงคนอกหัก  ทำไมไม่แต่งเพลงที่มันเกี่ยวกับชีวิต  สังคม  ธรรมชาติ บ้างล่ะ’  ผมเลยได้สติ  ว่าเออจริงซิ ก็เลยแต่งเพลง ป่าลั่น ขึ้นมา

           เป็นเพลงบรรยายถึง โลกแจ่มใสด้วยดวงอาทิตย์  ธาราไหลริน  นกบิน  เพื่อให้คนรักป่า และ ป่าเลี้ยงชีพเรา”

                                                           ป่าลั่น

                     คำร้อง              ชาลี   อินทรวิจิตร

                     ทำนอง             สมาน  กาญจนะผลิน

                     ร่วมขับร้อง        คณะสุเทพโชว์

                                 (ช)       เมื่ออาทิตย์อุทัย           (ฮัม...)

                                               ส่องทั่วท้องถิ่นไพร     (ฮัม...)

                                               โลกแจ่มใสอีกครั้ง        (ฮัม...)

                                   (ญ)      เหม่อมองนกโผบิน      (ฮัม...)

                                               แว่วธารรินไหลหลั่ง     (ฮัม...)

                                               ป่าลั่นดังสะท้านใจ       (ฮัม...)

(พร้อม)  แดดส่องฟ้าเป็นสัญญาวันใหม่ พวกเราแจ่มใสเหมือนนกที่ออกจากรัง ต่างคนรักป่า  ป่าคือความหวัง  เลี้ยงชีพเรายัง  ฝังวิญญาณนานไป 

ตื่นเถิดหนาอายนกกามันบ้าง  แผ่นดินกว้างขวาง  ถางคนละมือละไม้  รอยยิ้มของเมีย  ชโลมฤทัย  ซับเหงื่อผัวได้  ให้เราจงทำดี 

เสื้อผ้าขี้ริ้ว  ปลิวเพราะแรงลมเป่า  กลิ่นอายพวกเรา  เขาคงจะเดินเมินหนี  คราบไคลไหนเล่าเท่าคราบโลกีย์  เคล้าอเวจี หามีใครเมินมัน

โลกจะหมองครองน้ำตาความเศร้า  แบ่งกันว่าเขาและเราเศร้าจริงใจฉัน

ป่ามีน้ำใจใสแจ่มทุกวัน  รักป่าไหมนั่น  เมื่อ  “ป่าลั่น”  ความจริง

         บังเอิญตอนนั้น  ชรินทร์  นันทนาคร  กำลังสร้างหนังเรื่อง  เทพบุตรนักเลง  ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ รพีพร นั่นเอง  โดยมีพระเอกนางเอกคู่ขวัญ คือมิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ครูชาลีมีหน้าที่แต่งเพลงประกอบในเรื่อง ก็เลยเขียนเพลงนี้ให้  ลีลาของเพลงเข้ากันได้ลงตัวกับเนื้อหาในหนัง       

         ครูชาลีบอกว่า   “ท่อนนำของเพลงนี้เพราะมาก เป็นการร้องนำของเพ็ญศรี พุ่มชูศรี กับ สุเทพ วงศ์กำแหง  โดยมี สมาน กาญจนะผลิน  เรียบเรียงได้ยอดเยี่ยม  นานๆได้แต่งเพลงดีๆ อย่างนี้ก็รู้สึก โลกมีสีสันครามครันอยู่”

         สุวัฒน์  วรดิลก  และครูชาลี  อินทรวิจิตร  เป็นปิยะมิตรกันมายาวนาน  เกิดเดือนเดียวกัน  ปีเดียวกัน  โดยสุวัฒน์ อ่อนกว่า  8 วัน  แต่สุวัฒน์  ล่วงลับไปก่อน

         ความเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้า  สะท้อนภาพความไม่เป็นธรรมในสังคม  โดยผ่านงานเขียน เช่นเรื่อง “ลูกทาส” เรื่อง “พิราบแดง”  ทำให้สุวัฒน์ วรดิลก  ถูกทางการเพ่งเล็ง

         ในปี  2500  สุวัฒน์  พาคณะศิลปินไทย  60 คน ซึ่งรวมทั้ง สุเทพ วงศ์กำแหง ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยที่ตอนนั้น ไทย - จีน ยังไม่มีสัมพันธ์ทางการทูต 

สุวัฒน์พูดว่า “เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนที่ขาดตอนไปเป็นเวลานาน  การไปครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ”

รำลึก ครูชาลี  อินทรวิจิตร

         แต่แล้วเมื่อกลับมาถึงไทย  ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  เป็นนายกรัฐมนตรี  ทั้งสุวัฒน์ วรดิลก  และเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี ผู้เป็นภรรยาก็ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์  ส่วนคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัวออกไป

         เมื่อออกจากคุกโดยปราศจากความผิดใดๆ  ครูชาลี  อินทรวิจิตร  ได้ตั้งคณะละครโทรทัศน์  จึงชวนสุวัฒน์ ช่วยเขียนบทละครโดยนำเอาเรื่อง “God see the truth but wait” ของ ลีโอ ตอลสตอย

นักเขียนใหญ่ของโลกมาทำเป็นบทละครใช้ชื่อเรื่องว่า “พระเจ้ารู้ทีหลัง” จนครูชาลี ถูกหัวหน้าสถานีโทรทัศน์เชิญไปซักถาม

         สุวัฒน์  เขียนยกย่องครูชาลี ไว้ในหนังสือ “บันเทิงบางที”  ของชาลี อินทรวิจิตร ว่า

         “เขามีชีวิตเดียวเหมือนคนทั่วไป  แต่มีสองวิญญาณ  ซึ่งน้อยคนจะมีได้อย่างเขา

วิญญาณ  “สามัญชน”  ผนึกแนบมากับชีวิตเขา  ตั้งแต่เกิดจนเติบใหญ่และคงไม่ยอมพรากจากเขาไป  กระทั่งแตกดับไปด้วยกัน

วิญญาณ  “ศิลปิน” เบียดแทรกวิญญาณสามัญชนอย่างไม่วางมือ ตั้งแต่เขารู้จักคิด  รู้จักรัก  เกลียด  และหลง  ซึ่งสิ่งที่เขารู้จักเหล่านั้น ประมวลตัวของมันเข้าเป็นเอกภาพแล้วกำหนดมิติใหม่ให้แก่ชีวิตเขา  นั่นก็คือ จินตนาการ

ซึ่งมิใช่อื่นไกล  แท้จริง  คือ  ความฝัน  แต่เป็นฝันทั้งๆ ลืมตาตื่น  มิใช่หลับตานอน

วิญญาณทั้งสองดวง มีทั้งส่วนที่คล้ายและส่วนที่ต่าง  ส่วนคล้ายคือ ต่างเกาะแน่นหยั่งราก  ฝังลึกลงถึงก้นบึ้งของชีวิต  เหมือนปะการัง หรือกัลปังหา  ซึ่งฝังรากสลักแน่นกับศิลาใต้น้ำ  ส่วนต่างก็คือ  ต่างแยกตัวเป็นอิสระ หลายครั้งหันหลังให้กัน และหลายครั้งหันมาเผชิญหน้ากัน แต่ทั้งๆ    ที่ต่างไม่พยายามรู้จักมักคุ้นกัน  ทำราวต่างคนต่างอยู่ในอาคารชีวิตหลังเดียวกัน  ต่างก็ไม่วายจะทอดสายสัมพันธ์ถึงกันอย่างไม่รู้ตัว

วิญญาณสามัญชนมีสุข  มีทุกข์  อด หรืออิ่ม  วิญญาณศิลปินไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้  แต่ก็สะท้อนความรู้สึกสุข  ทุกข์  หิวหรืออิ่ม  เข้ามาไว้  แล้วระบายมันโดยการเกริ่นกล่าวต่อชาวโลก

วิญญาณแรกรับเอามาเก็บกดไว้  ทั้งความสมหวังและผิดหวัง  ทั้งหัวเราะและน้ำตา  วิญญาณหลังก็รับช่วงต่อ  แทนการเก็บกด กลับเกริ่นก้องสู่หัวใจใครต่อใครที่มีวิญญาณสามัญชนในชีวิตจากหัวใจสู่หัวใจหลายต่อหลายหัวใจชื่นชมปรีดา  ทั่วทั้งพาราพร้อมใจกันปรบมือให้วิญญาณดวงนี้  จนวิญญาณอีกดวงถูกทอดทิ้งให้มะงุมมะงาหราอยู่กับชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยไป

วิญญาณที่เหนือกว่า  เป็นวิญญาณของคีตศิลป์  โดดเด่นอยู่ในอาณาจักรอันอมรรตัย  วิญญาณสามัญได้แต่ถอยห่างอย่างเจียมตัว  แต่ถอยอย่างไร ก็ไม่อาจห่างจนลับตา  เพราะชีวิตอันเป็นศูนย์ของวิญญาณทั้งสองดวงคอยเหนี่ยวรั้งเอาไว้”

นี่คือความผูกพันของสองกัลยาณมิตร  สองศิลปินแห่งชาติ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งฝากผลงานประพันธ์ และงานเพลงอมตะประดับไว้อย่างอลังการในแผ่นดินแห่งนี้ 

ประสาร  มฤคพิทักษ์  :  [email protected]