posttoday

ไม่ได้เล่นไปวันๆ

13 พฤษภาคม 2561

ติดตามความเป็นไปในระยะเวลา 1 ปีของเด็กๆ “ออโรรา”

โดย  แหนง-ดู

ติดตามความเป็นไปในระยะเวลา 1 ปีของเด็กๆ “ออโรรา” ซึ่งเป็นพรีสคูลหรือเนิร์สเซอรี่ตั้งอยู่ติดป่าในเมืองเล็ก ไม่ไกลจากออสโลเมืองหลวงของนอร์เวย์

หนังติดตามเด็กๆ ของออโรรา ซึ่งมีมีอายุระหว่าง 1-7 ขวบ โดยเน้นไปที่เด็ก “ชมรมหกขวบ” ซึ่งจะเรียนที่นี่เป็นปีสุดท้าย ก่อนจะถึงปีที่สำคัญที่สุดในวัย 7 ขวบ ซึ่งพวกเขาจะต้องก้าวเข้าสู่โรงเรียน

ไม่ได้เล่นไปวันๆ

เพราะเชื่อว่า การเล่นคือ งานของเจ้าตัวเล็ก และวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต พวกเขาไม่ควรจะถูกยัดเข้าไปอยู่ในกรอบกำหนดใดๆ ทุกวันเด็กออโรราจะได้เล่นทั้งด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ และโดยการนำของครู ไม่มีห้องเรียน ไม่มีตำรา ไม่มีกระดานดำ แต่มีมุมต่างๆ ให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้เติบโต ปลดปล่อยความคิดเป็นเสรี สร้างสรรค์

ระหว่างการเล่นพวกเขาก็ได้เรียนรู้ เป็นการศึกษาที่บูรณาการวิชาการเข้ากับกิจกรรมต่างๆ เน้นการเล่น เน้นให้เด็กๆ ได้รู้จักและสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติ ทำให้เด็กๆ มีชีวิตอย่างสมดุลกลมกลืนไปกับโลกและสิ่งแวดล้อม เด็กๆ มีอิสระ มีชีวิตเรียบง่าย มีของเล่นที่ทำขึ้นเอง ซึ่งเด็กๆ ก็จะได้พัฒนาร่างกายของพวกเขาไปพร้อมกับจิตใจ ความคิด อารมณ์ และความรู้สึก

ไม่ได้เล่นไปวันๆ

เด็กๆ ที่ออโรราได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติ ครูที่ดูแลเด็กๆ ก็น่าประทับใจ เพราะพวกเขาเฝ้ามอง ดูแล และฟังเด็กๆ อย่างดี โดยเฉพาะ คริสตอฟเฟอร์ ครูหนุ่มผู้นุ่มนวล อดทน มีเสน่ห์ และเป็นขวัญใจของเด็กๆ ตัวละครที่ชิงหัวใจคนดูไปครองคือลุกวิก และ อูเรียล สองเพื่อนซี้ ทั้งยังมีเพื่อนสาวแสนหวานของลุกวิก รวมไปถึงมายาเด็กน้อยแสนซน

ระหว่างการเล่นของพวกเขา เราได้สำรวจบทบาทของเด็กๆ ได้รู้ถึงความสำคัญของมิตรภาพ ความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หนังยังอนุญาตให้เราได้เข้าไปสังเกตการเล่น อันเป็นความลับในหมู่เด็กๆ อย่างที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ หนังทำให้เราทึ่งในจินตนาการ ความคิด และความสามารถของเจ้าตัวเล็กในหลายๆ ตอน

ไม่ได้เล่นไปวันๆ

โอโรราเป็นเนิร์สเซอรี่ที่ใช้แนวทางของวอลดอร์ฟ แต่หนังก็ไม่ได้ออกมาในเชิงชี้นำ สนับสนุนหรือส่งเสริมการศึกษาแนวทางนี้ แต่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่อันน่าสนใจแห่งนี้

เพราะเชื่อว่าเด็กๆ แต่ละคนมีบุคลิกภาพ มีความสามารถซึ่งแตกต่างกันออกไปการที่โรงเรียนให้คุณค่ากับผลการเรียน มุ่งมั่นทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างเด็กๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก ทั้งอาจจะยังไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการ การเติบโต และการเป็นตัวของตัวเอง ผู้กำกับ มาร์เกรธ โอลิน จึงได้สร้างสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมา

ไม่ได้เล่นไปวันๆ

หนังไม่มีเสียงบรรยาย ไม่มีบทสัมภาษณ์ แต่ปล่อยภาพ เสียง จากการถ่ายทำเด็กๆ ในระหว่างหนึ่งปี ไล่เรียงไป เป็นหนังเงียบ สงบ ไม่รุนแรง (แม้เด็กๆ จะมีทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างก็ตาม) สามารถนับได้ว่า เป็นหนัง “ฟีลกู๊ด” อย่างแท้จริง

มาร์เกรธ โอลิน เคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอชื่นชอบนักสร้างสารคดีชาวอเมริกัน เฟรเดอริค ไวส์แมน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน เฟรเดอริค ไวส์แมน คือ นักสร้างสารคดีที่เป็นเจ้าแห่ง “Direct Cinema” ซึ่งเป็นสารคดีที่ต้องการนำเสนอภาพความจริงและนำเสนอมันออกมาอย่างสมจริง ทำให้เกิดตั้งคำถามระหว่างความเป็นจริงกับความเป็นหนัง

สุดท้ายหนังจบลงในวันที่เด็กๆ ชมรมหกขวบ เรียนจบเนิร์สเซอรี่ออโรรา และต้องเติบโตก้าวเข้าโรงเรียน ด้วยความรักความผูกพันจึงมีน้ำตา คนดูเองที่ได้รู้จัก และอาจจะหลงรักเด็กๆ เหล่านั้นไปแล้วก็อาจจะร้องไห้ด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นหนังเงียบๆ มาเรื่อยๆ นิ่งๆ ก่อนจากไปอย่างทรงพลัง