posttoday

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

07 เมษายน 2561

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุ 100 ปี ไปแล้วในปี 2560 ทำให้มีโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก

โดย ภาดนุ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุ 100 ปี ไปแล้วในปี 2560 ทำให้มีโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปีและถนนจุฬาฯ 100 ปี งานนิทรรศทางวิชาการขนาดใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “จุฬาฯ เอ็กซ์โป 2017” และอื่นๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้

เมื่อมองผ่านลงไปถึงยุคนี้ สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมหรือคอมมูนิตี้สำหรับคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) หรือ SID ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนก่อตั้งขึ้นใจกลางสยามสแควร์ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจ

จุฬาฯ พยายามพลิกภาพของย่านสยามสแควร์สู่แหล่งอุดมปัญญา เป็นการต่อยอดจากโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ด้วยความต้องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

บุคคลที่ขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมแห่งสยามอย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง อย่าง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อดูภูมิหลังการทำงานของอธิการบดีจุฬาฯ คนนี้ ซึ่งเป็นอดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนผู้บริหารและอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และยังเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับคำว่า นวัตกรรม (Innovation) เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องนี้ ศ.ดร.บัณฑิต เผยว่า โครงการนี้ได้คิดไว้นานนับ 10 ปีแล้ว โดยเริ่มจากงานวิจัยของคณาจารย์ในจุฬาฯ จากนั้นจึงตั้งมูลนิธิทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น และนำงานวิจัยเรื่องนวัตกรรมของคณาจารย์ไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์สู่สังคม

โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่ ศ.ดร.บัณฑิต ดำรงตำแหน่งคณ

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

บดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาริเริ่ม “กองทุนนวัตกรรม วิศวฯ จุฬาฯ” เพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความสนใจในนวัตกรรม และมุ่งให้การผลิตนวัตกรรมเป็นเป้าหมายหลักของจุฬาฯ เพื่อใช้พัฒนาสังคม จนนำมาสู่แนวคิดหลักของจุฬาฯ

“ในช่วงที่ผ่านมาเมืองไทยยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มาก ส่วนใหญ่เราจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ช่วงหลังมานี้หลายประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่อื่น เพราะค่าแรงที่ไทยแพงขึ้น ดังนั้น เราจึงควรหันมาสร้างนวัตกรรมของเราเองขึ้นมาอย่างจริงจังสักที เมื่อผมมีโอกาสได้เป็นอธิการบดีฯ ผมจึงเล็งเห็นว่า จุฬาฯ มีทั้งคณะวิศวะ สถาปัตย์ แพทย์ ทันตแพทย์ และอื่นๆ ที่สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างเป็นนวัตกรรม และนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้”

เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (SID) ถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ โดยเปิดรับบุคคลที่มีไอเดีย และพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นที่ของอาคารศูนย์โตโยต้า (เดิม) หลังสยามสแควร์วัน เป็นศูนย์กลางของ SID เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาดูงานได้

หากย้อนกลับไปดูคำกล่าวของ ศ.ดร.บัณฑิต ในพิธีอธิการปติประทานการ (พิธีเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ความตอนหนึ่งกล่าวว่า ตั้งใจจะนำพาจุฬาฯ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม ที่มุ่งสร้างสรรค์ความรู้และผลผลิตจากการศึกษาวิจัย และผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมและปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ บ่งบอกว่านวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยของเขา

“นี่จึงเป็นที่มาของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนเรื่องบุคลากร เอกชนให้เงินสนับสนุน และรัฐบาลให้เงินลงทุน ครอบคลุมพื้นที่ 3 ส่วนหลักๆ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่าน โดยใช้พื้นที่บริเวณสยามสแควร์วันตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม หรือฟิวเจอร์เรียม (Futurium) สำหรับเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป จัดการบรรยาย กิจกรรม นิทรรศการและที่จัดแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย มีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม และยังมี โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ สำหรับผู้มาใช้บริการ”

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

สำหรับแผนการดำเนินงานของ SID จะมี 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) ประกอบด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย และนิทรรศการถาวรด้านนวัตกรรม

2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent building) ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประกวดแข่งขันและการต่อยอด การประชุมสัมมนา การสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา และโครงการบ่มเพาะและขยายผลทางธุรกิจ

3) การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (Industry liaison) โดย SID จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันการศึกษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

4) ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) สยามสแควร์จะกลายเป็นตลาดนัดนวัตกรรม และเป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิด (Idea) กับคนที่มีความสามารถในการทำ (I do) สิ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การลงทุน และการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการจับคู่ผู้มีความสามารถ

สำหรับการทำงานด้านนวัตกรรมจะโฟกัสใน 5 ด้าน คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Lifestyle) ความยั่งยืนทางทรัพยากรอาหาร พลังงาน และน้ำ (Sustainable development) การสร้างสรรค์สังคมและเมืองอัจฉริยะ (Inclusive community & smart city) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิศวกรรมหุ่นยนต์ (Digital economy & robotics) และนวัตกรรมเพื่อการศึกษา (Innovative education)

 ศ.ดร.บัณฑิต บอกว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เสมือนหนึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์ โอเพ่น แพลตฟอร์ม ให้กับผู้คนในยุคนี้ นอกเหนือไปจากนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งตัวอาคารนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ตร.ม. จึงถือว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับทุกคน เพราะสามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

จากการเล็งเห็นพื้นที่สยาม ซึ่งมีทราฟฟิกเยอะถึง 1.2 แสนคน/วัน จึงอยากสร้างอีโคซิสเท็ม (Ecosystem) ด้านนวัตกรรม เพื่อจุดประกายให้คนมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แทนที่จะให้สยามเป็นเพียงแหล่งเรียนพิเศษ หรือช็อปปิ้งอย่างเดียว

“เราต้องการสร้างเวทีกลางในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมออกสู่สังคม ซึ่งนวัตกรรมต้องการอะไรใหม่ๆ SID จึงเป็นแพลตฟอร์มให้คนคิด และคนทำมาเจอกัน หรือคนที่มีตลาดหรือหน้าร้านได้มาช็อปสินค้านวัตกรรม โดยหากมองเทรนด์สตาร์ทอัพของไทยนั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นเยอะ แต่จะทำอย่างไรในการขยายสเกลธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง”

ล่าสุด ได้มีการจัดงาน Our Futures 2030 ขึ้นด้วย เพื่อให้คนไทยได้รู้จักคิดค้น หรือหาไอเดียใหม่ๆ ในการเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน และยังมีโครงการ 100 SID ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อหาคนที่มีไอเดียดีที่สุดจำนวน 30 กว่าโปรเจกต์ ศ.ดร.บัณฑิต ฉายภาพว่า โปรดักต์ที่คนรุ่นใหม่ทำมานั้นดีแล้ว แต่ยังขาดเงินทุนที่จะช่วยเหลือและพัฒนาโปรดักต์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกเท่านั้น

“ซึ่งก็ตรงกับจุดประสงค์ของการเปิดเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ที่เรากำลังร่วมมือกันสร้างขึ้นพอดี ดูอย่างประเทศจีนตอนนี้สิ พวกเขาพัฒนาไปไกลมาก เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล ดังนั้นคนไทยก็ต้องรีบตามเขาให้ทันเช่นกัน นวัตกรรมที่นักศึกษาคิดไว้ เช่น แอพพลิเคชั่นเพื่อผู้ใช้รถเมล์ กระดูกเทียม และอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับคนเราได้ นวัตกรรมที่นำเสนอออกมาจะต้องเป็นจริงได้ และสามารถทำรายได้ให้กับคนไทยได้จริง

ที่ผ่านมา เราได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้นักศึกษาโดยตลอด แต่ปัญหาคือคนไทยไม่กล้าที่จะคิดการใหญ่ มูลค่าที่ได้กลับมาจึงน้อย ทั้งๆ ที่นวัตกรรมบางอย่างคนต่างชาติยังบอกว่า นี่เป็นผลงานระดับโลกเชียวนะ ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าทำมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่พวกเขาจะมีของดีอยู่ในตัว เพียงแค่เราจัดพื้นที่ให้คนคิด ได้มาพบกับคนให้ทุนสนับสนุน ในอนาคตก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของไทยเพิ่มมากขึ้น”