posttoday

กชกร วรอาคม ด้วยรักในฐานะภูมิสถาปนิก

08 มิถุนายน 2560

หากนั่งปะปนกับนักศึกษา สาวร่างเล็กหน้าเด็กคนนี้ มองจากภายนอกก็แทบแยกไม่ออกว่าฐานะของเธอคือ อาจารย์พิเศษสาขาภูมิสถาปัตยกรรม

โดย...กองทรัพย์ ภาพ กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

หากนั่งปะปนกับนักศึกษา สาวร่างเล็กหน้าเด็กคนนี้ มองจากภายนอกก็แทบแยกไม่ออกว่าฐานะของเธอคือ อาจารย์พิเศษสาขาภูมิสถาปัตยกรรม และมีบริษัทของตัวเอง แลนด์โพรเซส (Landprocess)

กชกร วรอาคม ซึ่งอาจดูธรรมดาๆ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาของเธอ ทำให้การคิดของภูมิสถาปนิกคนนี้ มีแง่มุมชวนคิด ซึ่งสะท้อนอยู่ในผลงานที่ผ่านมาของเธอ ซึ่งล้วนเป็นงานออกแบบที่เน้นคุณค่าและเป็นประโยชน์ ตั้งแต่ Siam Green Sky ที่หลายคนเรียกว่าสวนลอยฟ้ากลางกรุง โครงการบูรณะพัฒนาอาคารพาณิชย์บริเวณหมอน 47 และอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้

กชกร จบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมเหรียญทอง ขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เธอเลือกไปฝึกงานและทำงานที่สหรัฐอเมริกาอยู่พักหนึ่ง จุดประสงค์เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและสไตล์การออกแบบ จากนั้นจึงเรียนต่อระดับปริญญาโท ภูมิสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะกลับมาเป็นภูมิสถาปนิก เป็นอาจารย์ และทำงานเพื่อสังคม

“เมื่อหลายปีที่แล้ว เราอาจเป็นคนแรกๆ หรือเป็นคนเดียวที่เลือกไปฝึกงานที่สหรัฐ เพราะเราอยากเห็นว่าจากหนังสือที่เราเรียนซึ่งเป็นของฝรั่ง กว่าจะออกมาเป็นหนึ่งงานเขามีขั้นตอนอย่างไร ทำไมถึงมีงานดีๆ ออกมา ถ้าเราไม่ลองหรือถ้าเรากลัว เราก็ไม่รู้ ตอนนั้นอายุ 21 ปี เขาก็เปิดโอกาสให้ทำโครงการใหญ่ เราจะเน้นใส่ไอเดียหรือเน้นดีไซน์เยอะๆ แต่พอเรียนรู้ไปสักพักก็สรุปและได้รู้จักความเรียบง่าย Clean และ Clear ใช้เวลาหนึ่งปีเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

การเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด ทำให้เธอค้นพบแนวทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ว่าเธอชอบการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียวมากกว่า เธอและกลุ่มเพื่อนตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Kounkuey (คุ้น-เคย) ทำโปรเจกต์เพื่อสังคมเช่น ออกแบบห้องน้ำให้กับชุมชนสลัมในเคนยา และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อเธอกลับมาเมืองไทยก็ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ผ่านการออกแบบเชิงผสมผสาน Greenovative Design สามารถตอบสนองความต้องการเชิงธุรกิจและสร้างสรรค์สังคม

 

กชกร วรอาคม ด้วยรักในฐานะภูมิสถาปนิก

“นอกจากทำงานดีไซน์ เป็นอาจารย์พิเศษ กชยังรวมกับกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้งกลุ่มศิลป์บำบัด ชื่อ Artifield โดยมี ดร.พรทิพา พิชา หัวหน้างานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โครงการศิลป์บำบัดเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง และ นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นที่ปรึกษา ใช้ศิลปะและดนตรีช่วยบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา ทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่สนใจในเชิงบำบัดรักษาทั้งในรูปแบบของศิลปะ และดนตรี โดยใช้หลักธรรมศิลป์ คือ การสื่อความหมายของศิลปะที่ผลิบานจากสภาวะจิตของผู้วาด ที่เป็นสภาวะจิตแห่งสมาธิ สภาวะแห่งการไร้การบังคับ เป็นสภาวะที่จิตไร้สำนึกได้ออกมาโลดแล่นอย่างอิสระ

“การทำงานศิลปะบำบัด เราเห็นผลชัดเลย บางคนยอมรับความตายได้มากขึ้น เราสังเกตได้จากแววตา กิจกรรมเหล่านี้ทำให้คนกล้าแสดงความรู้สึกโดยไม่เขินอาย เพราะอยู่เฉยๆ จะให้ใครมาบอกว่า เป็นห่วงคุณนะ คงยาก ถ้าคนเรารับรู้ว่าถูกรัก ก็พอแล้ว เราทำงานตรงนี้เป็นการเติมเต็มให้ชีวิตและทำมากว่า 5 ปีแล้ว” กชกร กล่าว

สำหรับสถาปนิกก่อนจะเรียนจบทุกคนจะมีดรีมโปรเจกต์ ซึ่งดรีมโปรเจกต์ของภูมิสถาปนิกสาวคนนี้คืออยากทำสวนสาธารณะมาตั้งแต่เด็ก กระนั้นการทำงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะโครงการใหญ่ เป็นงานท้าทายสำหรับนักภูมิสถาปนิก เพราะแม้จะเป็นงานในฝัน แต่สิ่งที่ต้องฝ่าฟันก็มีไม่น้อยเช่นกัน

“ธีซิสก็ทำสวนสาธารณะ ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่เราได้ทำให้ความฝันของเราเป็นจริง และมันมีประโยชน์กับคนปริมาณมาก

สวนอุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นการจัดพื้นที่สีเขียว ผสมผสานกับความทันสมัย เราต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เป็นงานที่ใหญ่มาก ตอนนั้นต้องเขียนแบบภายในเวลาจำกัด มีอาคาร มีสวน และกรีนดีไซน์ ถือว่าโชคดี

การออกแบบให้พื้นที่สาธารณะ เราบอกไปว่า ในฐานะจุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษา ถ้าแนวคิดการออกแบบแบบนี้ไม่เกิดตรงนี้ ก็คงไม่มีที่ไหนทำได้ และสถานที่แห่งนี้จะไม่สร้างรายได้เหมือนโครงการทั่วไปที่เป็นห้างสรรพสินค้าหรืออาคารอื่นๆ แต่มันมีคุณค่าในเชิงการใช้พื้นที่ของสถานศึกษาและชุมชนโดยรอบ

กชกร วรอาคม ด้วยรักในฐานะภูมิสถาปนิก

ในกระบวนการมีอุปสรรคที่ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่าเรายังจะทำต่อไปไหม หรือจะทำเพื่ออะไร ที่ผ่านมาก็มีอุปสรรคที่เราไม่แปลว่ามันล้มเหลว ทั้งๆ ที่หลายครั้ง หลายคนบอกว่านี่คือความล้มเหลว แต่เรามองเห็นว่าเป็นอุปสรรค มันก็ฝึกฝนเราให้มองข้ามและฝ่าอุปสรรคนี้ไปให้ได้

มาถึงจุดนี้เป็นการฝึกตัวเองที่ดีมากในฐานะเป็นผู้ออกแบบ และในฐานะเหมือนเป็นคนคนหนึ่งที่กำลังทำวิชาชีพอยู่ รู้สึกว่าเราผ่านอะไรมาเยอะมาก แต่เรียนรู้ทั้งนั้นซึ่งดีมากค่ะ”

ในฐานะภูมิสถาปนิก กชกรสะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาในวงการนักออกแบบว่า ประเทศไทยจัดงานประกวดแบบที่ส่วนใหญ่งานที่ได้รางวัลมักจะไม่ได้เอาไปสร้างจริง คือออกแบบไปก็แป้ก

“ประกวดแบบ ให้รางวัล ถ่ายรูปจบ ซึ่งโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นการประกวดแบบไม่กี่แห่งที่ได้สร้างจริงตามแบบที่ผู้ออกแบบ ที่สำคัญเป็นการทำงานร่วมกับผู้มีประสบการณ์ ทุกฝ่ายล้วนเป็นทั้งอาจารย์และขณะเดียวกันก็เป็นลูกค้าที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ แต่ละครั้งที่ได้รับคำติชมทำให้เราได้เรียนรู้ ในฐานะผู้ออกแบบก็ต้องยึดแนวคิดหลักของการออกแบบเอาไว้ ไม่ไขว้เขว สิ่งที่เรียนรู้จากงานเหล่านี้ก็คือทำให้เราโตขึ้นเยอะเลยค่ะ

การทำงานกับจุฬาฯ เป็นกระบวนการที่น่าสนใจมากกว่าการออกแบบอื่นๆ ที่คุยกับลูกค้า ถ้าเขาชอบคอนเซ็ปต์ก็ซื้อไอเดีย แต่งานนี้ใหญ่กว่านั้น เพราะมีความเป็นมืออาชีพวิชาชีพของแต่ละอาจารย์ในแต่ละภาควิชารวมอยู่ด้วย มีคุณค่า ไม่ได้ดูมูลค่าอย่างเดียว ซึ่งกชคิดว่าการออกแบบพื้นที่สาธารณะมันต้องมีการพูดคุยกันแบบนี้ เรื่องต้นทุนก็อีกเรื่องหนึ่งแต่เราไม่ได้พูดว่าจะทำพื้นที่ให้สวยอย่างเดียว เราไม่ได้พูดถึงคุณค่าเชิงมูลค่า เราพูดถึงคุณค่าด้วย วิชาชีพด้วย ซึ่งดีใจมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในโครงการนี้” ภูมิสถาปนิก กล่าว