posttoday

ชวนล ไคสิริ ว่าที่สถาปนิกสู่ดีไซเนอร์สุดฮอต

29 พฤศจิกายน 2559

ถ้าไปตามดูอินสตาแกรมของเหล่าเซเลบลิตี้ทั่วฟ้าเมืองไทย รวมทั้ง ซุป'ตาร์บ้านเรา

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

ถ้าไปตามดูอินสตาแกรมของเหล่าเซเลบลิตี้ทั่วฟ้าเมืองไทย รวมทั้ง ซุป'ตาร์บ้านเรา อย่าง แอน ทองประสม แอฟ-ทักษอร เตชะณรงค์ ลูกเกด-จิรดา โยฮารา จูน-สาวิตรี โรจนพฤกษ์ และอีกหลายคนๆ จะเห็นว่า หนึ่งในแบรนด์โปรดที่ถูกแฮชแท็กถึงบ่อยที่สุดหนีไม่พ้นแบรนด์ "โพเอม" (Poem) แบรนด์ไทยฝีมือเฉียบที่ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันในเรื่องของการตัดเย็บ ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงที่มองหาเสื้อผ้ามาเติมเต็มความสวยสง่ามั่นใจโดยเฉพาะ

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ต้องยกให้ ฌอน-ชวนล ไคสิริ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝีมือเฉียบ ผู้ปลุกปั้นแบรนด์โพเอมจนกลายเป็นแบรนด์ไทยอันดับต้นๆ ที่ผู้หญิงเทใจให้

ย้อนไปดูเส้นทางของแบรนด์อาจจะแตกต่างจากดีไซเนอร์ทั่วไป ที่มักเริ่มต้นแบรนด์จากแพสชั่นด้านแฟชั่นที่มีในตัวมายาวนาน หรือบางครั้งสร้างแบรนด์เพื่อออกแบบเสื้อผ้าแบบที่เหมาะกับความชอบของตัวเอง หากแต่ฌอน แม้จะมีคุณแม่เป็นเจ้าของห้องเสื้อ ได้ซึมซับการทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก แต่ก่อนหน้านี้ เขาไม่เคยคิดจะเดินตามรอยคุณแม่แม้แต่น้อย ในทางกลับกันเขาเติบโตมาพร้อมความฝันและความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาปนิก

“สมัยเด็ก ผมเคยไปออฟฟิศของญาติที่เป็นสถาปนิก ผมประทับใจสภาพแวดล้อมการทำงานที่นั่นมากและวาดฝันว่าอยากทำอาชีพนี้ จึงเลือกสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ระหว่างเรียน ด้วยความที่บ้านผมเป็นห้องเสื้อ เวลาทำละครคณะ ผมเลยมักได้รับหน้าที่ให้ช่วยดูแลเสื้อผ้าของนักแสดงทุกปี จะว่าไปก็เหมือนโชคชะตา ที่สุดท้ายก็นำพาให้ผมต้องเข้ามาคลุกคลีกับโลกแฟชั่น การทำเสื้อผ้าอยู่ดี”

ชวนล ไคสิริ ว่าที่สถาปนิกสู่ดีไซเนอร์สุดฮอต

 

การที่ฌอนได้จับพลัดจับผลูเข้ามาสัมผัสกับการทำเสื้อผ้า โลกอีกใบที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่เขาไม่เคยคิดจะเข้ามาเรียนรู้นี้เอง ได้เปิดมุมมองที่ฌอนมีต่อแฟชั่นไปอย่างมาก เพราะการทำเสื้อผ้าเพื่อใช้ในละครคณะ ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาเป็นละครพีเรียด ทำให้เขาต้องทำการบ้านศึกษาลงลึกถึงข้อมูลของแฟชั่นในยุคต่างๆ ต้องขอคำแนะนำจากคุณแม่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ ทำให้เขาค่อยๆ ตกหลุมรักในแฟชั่นอย่างไม่รู้ตัว

“ถึงจะเปิดใจกับแฟชั่นมากขึ้น แต่ผมยังตั้งเป้าแน่วแน่กับความฝันที่จะเป็นสถาปนิก จนตอนที่ผมไปฝึกงาน และได้ค้นพบว่าอาชีพสถาปนิกที่ผมฝันกับความเป็นจริงอาจไม่เหมือนกันนัก การเป็นสถาปนิกนั้นไม่ง่ายดั่งใจ ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์มากมาย กว่าจะได้ออกแบบหรือทำผลงานของตัวเองจริงๆ อย่างน้อยต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้าอายุยังน้อย การทำงานส่วนใหญ่ก็ได้เพียงการช่วยเหลือสถาปนิกผู้มีประสบการณ์เท่านั้น ซึ่งพอพบความจริงนี้ ผมเลยคิดว่าสถาปนิกคงไม่ใช่คำตอบสำหรับผม”

อย่างไรก็ตาม ดีไซเนอร์คนเก่ง บอกว่า หลังจากชีวิตเดินทางมาถึงจุดพลิกผัน เพราะเริ่มถอดใจจากอาชีพในฝัน เขาโชคดีที่ได้มีโอกาสพบกับเส้นทางชีวิตสายใหม่ ที่สร้างเขาให้เป็นเขาในวันนี้

“ช่วงที่เรียน ผมมีโอกาสลองทำเสื้อผ้าและไปฝากขายที่สยาม ปรากฏว่าขายได้ สามารถทำรายได้ระหว่างเรียนให้ผมได้เป็นอย่างดี ผมยังจำได้ว่าวันแรกที่ไปฝากขาย ผมฝากขายเสร็จก็รีบไปเรียน พอเรียนคลาสแรกเสร็จ พี่ที่ผมไปฝากขายก็โทรมาบอกข่าวดีว่า เสื้อผมขายได้แล้วนะ ผมดีใจมาก และยิ่งเซอร์ไพรส์สุดๆ เมื่อรู้ว่าลูกค้าที่ซื้อเสื้อตัวแรกที่ผมทำไปฝากขายคือ ลูกเกด-จิรดา โยฮารา วีเจสาวชื่อดัง (ยิ้ม)”

ชวนล ไคสิริ ว่าที่สถาปนิกสู่ดีไซเนอร์สุดฮอต

 

จากจุดเริ่มต้นของการทำเสื้อขายเป็นรายได้เสริม เขาค่อยๆ ค้นพบว่านี่คือโลกอีกใบที่ใช่สำหรับเขา เมื่อเรียนจบฌอนจึงไม่รอช้า ตัดสินใจขอทุนตั้งต้นกับคุณแม่เพื่อเปิดแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง แน่นอนว่าก้าวแรกของการทำธุรกิจไม่มีคำว่าง่าย เพราะธุรกิจในวันนี้ไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไปเหมือนสมัยนำเสื้อไปฝากขายแล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป แต่ทุกรายละเอียดคือสิ่งที่ต้องใส่ใจ

“ช่วงแรกๆ ที่ทำแบรนด์ ผมปรึกษาคุณแม่เยอะมาก ผมเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนไม่มาก อาศัยค่อยๆ โต ใช้หัวใจในการทำธุรกิจ พิถีพิถันตั้งแต่การเลือกโลเกชั่น การบริหารแบรนด์ อย่างที่บอกว่าพอมี Fixed Cost ที่ไม่ใช่แค่ค่าเช่า แต่ยังมีค่าผ้า ค่าตกแต่งร้าน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ผมยิ่งต้องมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรต้องใช้เหตุและผล มีข้อมูลรองรับ”

ฌอน บอกเล่าอย่างออกรสเมื่อย้อนวันวานถึงการปลุกปั้นแบรนด์ที่รักด้วยสองมือ จนปีนี้ขึ้นปีที่ 10 แล้วว่า ช่วง 2 ปีแรกของการทำแบรนด์ถือเป็นช่วงเรียนรู้ ยังอยู่ในช่วงหาส่วนผสมที่ลงตัวของแบรนด์ให้เจอ โพเอมเองกว่าจะถึงวันนี้ก็เคยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ที่หนักสุดคือตอนที่แบรนด์เข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเมืองไทยพอดี

“ช่วงนั้นเราได้รับผลกระทบเยอะ เพราะเปิดร้านไปก็แทบขายไม่ได้ แถมตอนหลังพอเหตุการณ์หนักขึ้นก็ต้องปิดร้าน ช่วงนั้นแบรนด์เราเกือบไม่ได้ไปต่อ แต่ผมถือเอาคำสอนจากคุณแม่ที่บอกว่า ถ้าไม่มีรายได้ก็ห้ามมีรายจ่าย ด้วยคำสอนนี้ทำให้เขาประคับประคองแบรนด์ผ่านวิกฤตมาได้ พอปีต่อมากรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ครั้งนั้นถามว่าเรากระทบมั้ยก็มีบ้าง แต่ไม่หนักเท่าครั้งแรก ยังผ่านมาได้ จนพอมาปี 2012 แบรนด์เราเข้าสู่ปีที่ 6 ผมว่าเป็นช่วงที่แบรนด์เรามาถึงจุดที่ลงตัวสุด ดีเอ็นเอของแบรนด์ชัด ลูกค้าเริ่มคลิกกับเรา เริ่มขยายสาขา เริ่มทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น”

มาถึงวันนี้ที่โพเอมมีอายุครบ 10 ขวบ ขยายไปแล้วถึง 8 สาขา ฌอนยอมรับว่า อยู่ในจุดที่เขาพอใจ จากนี้เขาตั้งใจว่าจะไม่เน้นขยายสาขาในไทยเพิ่ม แต่ตั้งเป้าจะพาแบรนด์ไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ หลังจากพาแบรนด์ไปเปิดตลาดมาแล้วที่จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ชวนล ไคสิริ ว่าที่สถาปนิกสู่ดีไซเนอร์สุดฮอต

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ทำแบรนด์ ฌอนถือโอกาสแนะนำแบรนด์น้องใหม่ว่า สำหรับใครที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าแล้วอยากโกอินเตอร์ นอกจากหาตลาดแล้ว อย่าลืมประเมินศักยภาพการผลิตของตัวเองด้วยว่าจะสามารถรองรับกับดีมานด์ที่จะเข้ามาได้หรือไม่ เพราะถ้าแบรนด์มีกำลังผลิตไม่พร้อมก็จะกลายเป็นการเสียโอกาสเปล่าๆ

ถามว่า อะไรคือจุดแข็งของแบรนด์ไทยอย่างโพเอมที่ทำให้สามารถครองใจสาวๆ ได้อย่างสง่างาม ดีไซเนอร์คนเก่งเฉลยว่า จุดแข็งที่ทำแบรนด์ยืนหยัดในตลาดแฟชั่นที่มีการแข่งขันสูงได้ คือ นอกเหนือจากความเชื่อและแพสชั่นที่มีต่อสิ่งที่ทำแล้ว การนำเสนอสิ่งที่แตกต่างยังเป็นหัวใจสำคัญ

ทุกวันนี้โพเอมมีสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าสองกลุ่ม ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเรดดี้ ทูแวร์ ที่เน้นการออกแบบอย่างพิถีพิถัน สามารถหามาซื้อได้ที่หน้าร้านทุกสาขา สองคือ บริการ Private Poem Couture เราทำหน้าที่เหมือนช่างเสื้อส่วนตัวให้ลูกค้าที่มองหาเสื้อผ้าที่เข้ากับสรีระของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นชุดออกงาน หรือชุดเจ้าสาว

“ผมมีความสุขกับการสร้างแบรนด์ ผมได้นำความรู้ด้านสถาปัตย์มาปรับใช้ในการทำแบรนด์หลายอย่าง เพราะสถาปัตย์สอนให้ผมใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุและผล อย่างตอนเลือกเปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 2 เราไม่ได้แค่คิดว่า อยากได้ลูกค้าวัยรุ่นเลยยอมจ่ายค่าเช่าหลักแสน แต่มีการศึกษาข้อมูลเรื่องโลเกชั่นอย่างดีว่า ตรงหน้าร้านจะมีคนเดินผ่านในแต่ละวันเท่าไร คุ้มกับค่าเช่าที่จ่ายไปหรือไม่”

อีกหนึ่งเคล็ดลับในการบริหารแบรนด์ให้สตรองตามสไตล์ฌอนคือ เมื่อเริ่มต้นธุรกิจแล้ว อย่าคิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ ต้องให้ความใส่ใจกับรายละเอียด ตัวเขาเองยังอาศัยโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Microsoft Excel เพื่อทำบัญชีเก็บข้อมูลรายรับ-รายจ่ายของร้านทุกอย่าง

“ถึงจะไม่ได้มานั่งไล่ดูย้อนหลังตลอด แต่อย่างน้อยวันไหนที่ผมต้องการดูข้อมูลย้อนหลังผมก็สามารถเรียกดูได้ตลอด ที่สำคัญยังเป็นข้อมูลให้ผมรู้สภาพของธุรกิจตัวเองด้วยว่า ตอนนี้มีรายรับรายจ่ายสมดุลหรือไม่” ฌอน กล่าวทิ้งท้าย