posttoday

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ จากสงสัยสู่สร้างสรรค์

15 มิถุนายน 2559

ความซุกซนและขี้สงสัยของ 3 พี่น้อง พิมพ์มาดา กิตติธเนศ และอมฤต พัฒนปรัชญาพงศ์

โดย...กองทรัพย์ ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ความซุกซนและขี้สงสัยของ 3 พี่น้อง พิมพ์มาดา กิตติธเนศ และอมฤต พัฒนปรัชญาพงศ์ จุดประกายให้ของเหลือจากโต๊ะอาหารสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดธุรกิจหลักล้านได้ พวกเขาเลือกที่จะเสี่ยง และช่วยกันสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูก ผิดหวังมาก็ไม่น้อย แต่ท้ายที่สุดก็สามารถพัฒนา “หัวกุ้ง” ที่ผู้คนส่วนใหญ่เด็ดทิ้งถังขยะให้กลายเป็น "คางกุ้งทอดกรอบ" ในแบรนด์ขนมขบเคี้ยวในชื่อ โอคุสโน่ ที่มีขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และกระฉ่อนโลกออนไลน์ วันนี้รสชาติแห่งความสำเร็จมาถึงพวกเขาเร็วกว่าที่คิด แต่ก็ไม่ไกลเกินจะคาดคิดแพร-พิมพ์มาดา สาวน้อยตาหยี วัย 26 ปี พี่คนโตของบ้านและในฐานะซีอีโอ บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด เผยเบื้องหลังความสำเร็จของคางกุ้งทอดกรอบ ธุรกิจจากความขี้สงสัยของเธอ...

"ขนมคางกุ้งทอด หรือโอคุสโน่ ในภาษาสโลวีเนีย แปลว่า อร่อย ที่ใช้ภาษานี้เพราะว่าหลังจากแพรเรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แพรมีโอกาสได้ทุนไปทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ที่ประเทศสโลวีเนียอยู่ประมาณ 4 เดือน ที่นั่นทำให้เราตกผลึกกับตัวเอง ว่าอยากจะกลับมาสร้างธุรกิจ หลังกลับมาเมืองไทยไม่นานก็เริ่มต้นธุรกิจไอศกรีมสับปะรดก่อน เป็นแบบซื้อมาขายไป แต่ขนมคางกุ้งนี่เกิดจากเรื่องบังเอิญบนโต๊ะอาหารแท้ๆ เลยค่ะ เราเห็นว่าคุณแม่แกะหัวกุ้งทิ้ง เราก็เลยสงสัยว่าส่วนนี้ของกุ้งสามารถกินได้ไหม พวกเรา 3 คนพี่น้องก็ช่วยกันคิดโปรดักต์ขึ้นมาจากส่วนที่เราเรียกมันว่าคางกุ้งนี่แหละค่ะ"

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ จากสงสัยสู่สร้างสรรค์

 

 

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ กว่าจะลงตัวและเห็นวางขายอย่างสวยงามขนาดนี้ พวกเขาลองผิดลองถูก เสียวัตถุดิบไปไม่ใช่น้อย และโดนแพปลาไล่ตะเพิดมาก็มีเช่นกัน "พอพวกเราคิดแล้วก็ทำเลย แอบทำด้วยค่ะ (ยิ้ม) ก็ตามหาว่าที่ไหนที่พอจะขายหัวกุ้งได้บ้าง แรกๆ เราไปซื้อกุ้งเป็นตัวมาแล้วมาแกะเอาเฉพาะหัว เนื้อกุ้งก็เอามาทำอาหาร แต่หลังๆ ต้องใช้เยอะ ก็เลยไปตามแพปลาขอซื้อเฉพาะหัวกุ้ง บางเจ้าไล่ตะเพิดมาเลย บอกว่าไม่มีใครเขาทำกัน แต่ในที่สุดก็มีคนยอมทำให้เรา จึงมาสู่การลองผิดลองถูกในครัวที่บ้านนานถึง 3 เดือน ทำทุกกรรมวิธีทั้งนึ่ง ทอด อบ ย่าง ก่อนจะมาสรุปที่การทอด เสียน้ำมันไปเยอะเหมือนกันกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว"

แพร เล่าว่า สองพี่น้องตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจคางกุ้งทอดกรอบเต็มตัว ด้วยเงินทุนเริ่มแรกที่มี 3 หมื่นบาท โดยระยะแรกนำไปฝากขายตามร้านคาเฟ่ ให้ทดลองชิม ทำแพ็กเกจให้น่าสนใจ และอาศัยเสียงตอบรับจากคนที่ได้ชิมเพื่อนำคำติชมมาพัฒนาสินค้าให้คุณภาพคงที่ ทั้งเรื่องรสชาติ และการเก็บรักษา

"ตอนแรกทำแพ็กเกจเป็นซองน้ำตาลด้านหน้าใส ให้เขาเห็นผลิตภัณฑ์เราชัดๆ แต่ปัญหาคือมันเก็บนานไม่ได้ และขนมเรายังกรอบไม่พอ มีน้ำมันเยิ้มออกมา ก็เลยยังต้องพัฒนาสูตรมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ไปออกบูธ เอาไปให้ชิมตามแนวรถไฟฟ้า คนที่ได้ชิมก็คงเห็นว่ามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เอาคางกุ้งมาทอดกินเล่น เสียงตอบรับก็เลยค่อนข้างดีในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว เราจึงปรับแพ็กเกจใหม่ให้เป็นซองสีขาว และออกแบบให้น่ารักด้วยจุดเด่นอยู่ที่ลายเส้นบนซอง ซึ่งเป็นการออกแบบของแพรเอง"

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ จากสงสัยสู่สร้างสรรค์

 

เมื่อธุรกิจขยายวงกว้างออกไป มีออร์เดอร์เข้ามามากมาย เกินที่กำลังผลิตในครัวบ้านของสามพี่น้องจะรับไหว เมื่อเห็นช่องทางธุรกิจว่าน่าจะไปได้ไกล จึงตัดสินใจเดินเรื่องขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ทำให้ต้องเร่งขยายโรงงาน โกดัง และออฟฟิศ รับพนักงานเพื่อเก็บของและทำแพ็กเกจใหม่ เติมเงินลงทุนเข้าไปอีก 2 ล้านบาท และช่วงเวลาที่ความลับซึ่งเก็บมานานก็แตกโพละ

"เราสามคนเก็บเงียบกับคุณพ่อคุณแม่มาตลอด เพราะกลัวจะโดนด่า แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องขยายธุรกิจและเริ่มจริงจังแล้วก็ต้องบอก ซึ่งก็ตามคาดว่าโดนตำหนิกันถ้วนหน้า (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มาก เพราะว่าท่านเห็นว่าเราจริงจัง และน่าจะไปได้ไกล ก็เลยช่วยสนับสนุน ซึ่งตอนนี้คุณพ่อก็มาช่วยดูแลเรื่องการเงิน เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ถนัด

ระยะเวลาเกือบ 1 ปี กับธุรกิจตัวนี้ไปได้ดี จากสมัยก่อนผลิตช่วงแรกแค่ 100-200 ห่อ แต่ตอนนี้ในหนึ่งเดือนต้องส่งให้ลูกค้ามากถึง 5 หมื่นห่อ มันเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเด็กจบใหม่อย่างแพรกับน้องๆ ตอนนี้เราพัฒนารสชาติให้หลากหลาย มี 3 รสชาติให้เลือก คือ รสดั้งเดิม ต้มยำ และแกงเขียวหวาน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีค่ะ"

การเริ่มต้นจากความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจขนมคางกุ้งทอดกรอบ มีคำห้อยท้ายว่าเจ้าแรกของประเทศไทย เวลานี้ก็มีลูกค้าจากต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา และยังขยายช่องทางในประเทศจากเดิมที่มีขายแค่ในห้างเดอะมอลล์ ขยับไปที่สยามพารากอน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีเอ็ดบุ๊ค

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ จากสงสัยสู่สร้างสรรค์

 

"เราต้องการเจาะกลุ่มตลาดที่ต้องการความแปลกใหม่ เราบอกว่าเราเป็นขนมก็จริง แต่การตลาดของเราก็พยายามบอกว่าจะกินกับอาหารคาว เช่น ข้าวต้ม โรยหน้าบนสลัด ก็เพิ่มรสชาติและเพิ่มแคลเซียมให้ทุกคนได้ เพราะเรามีสโลแกนว่า เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินแล้วดี เพราะว่าเป็นแคลเซียมที่กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวที่ได้พลังงานเท่านั้น แต่ได้แคลเซียมด้วย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง"

แต่สำหรับแพรและน้องชายอีก 2 คน ขนมคางกุ้งทอดไม่ใช่แค่ขนมขบเคี้ยว แต่เป็นสนามที่เคี่ยวกรำให้ต้องลองผิดลองถูก ทดลองเดินในสนามธุรกิจ ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้แก้ปัญหา ซึ่งแพรบอกว่าสำหรับตัวเธอเอง นี่คือการก้าวกระโดดไปเป็นผู้ใหญ่ และเข้าใจว่าการทำอะไรเพื่อคนอื่นและมองเห็นความสำคัญของคนข้างหลังมากขึ้น

"ตอนแรกเราทำกันสนุกๆ สามคน ได้เงินมาก็เห็นว่ามันเยอะดี แต่เมื่อธุรกิจเราเติบโตขึ้น ขยายเป็นโรงงาน มีออฟฟิศ เราเห็นว่ามีคนที่เราต้องดูแลรับผิดชอบเขา นั่นคือพนักงาน ซึ่งเราต้องทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดี"

ภาพที่สาวน้อยคนนี้มองเห็นตัวเองในอนาคต เธอหวังว่าจะได้ทำธุรกิจที่เติบโตไปเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะแบ่งปันให้คนอื่น ส่วนข้อคิดทิ้งท้ายของเธอ ก็คือ "สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจหรือไม่อยากเป็นลูกจ้าง ให้สำรวจตัวเองก่อนว่ากล้าเสี่ยงแค่ไหน ถ้าคุณกล้าเสี่ยงให้ทำเลย คนที่กล้าเสี่ยงจะไม่กลัวความผิดหวัง และจะสนุกกับการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งคุณจะพบว่าอะไรที่คุณเสี่ยงแล้วมีความสุขกับมัน นั่นอาจจะเป็นธุรกิจของคุณ เหมือนที่แพรกับน้องๆ ได้เสี่ยงที่จะแอบทำขนมในครัว เสี่ยงที่ไปหาซื้อหัวกุ้งจากแพปลา หรือเสี่ยงที่จะสร้างโรงงานในวัยเท่านี้ แต่พวกเราก็เสี่ยงจนได้ผล" เจ้าของขนมคางกุ้งทอด โอคุสโน่ กล่าว