posttoday

‘พิพิธ เอนกนิธิ’ จากเซลล์แมนสู่นายแบงก์ชีวิตนี้ PASSION เกินร้อย

19 กรกฎาคม 2557

Passion อาจเป็นคำสามัญไปแล้วสำหรับมหาเศรษฐีคนดังทั่วโลก เมื่อการก้าวขึ้นไปสู่ความสำเร็จระดับท็อปคลาส

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

Passion อาจเป็นคำสามัญไปแล้วสำหรับมหาเศรษฐีคนดังทั่วโลก เมื่อการก้าวขึ้นไปสู่ความสำเร็จระดับท็อปคลาส ไม่อาจใช้แค่เพียงความพยายามเพื่อให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ต้องถึงขั้นปรารถนาอย่างแรงกล้า

“ต้องมี Passion ของผมนี่เกิน 100 เราต้องดูว่าเราเชื่อในสิ่งที่เราทำไหม ที่ผ่านมาเปลี่ยนงานทีไรผมก็รู้สึกว่าผมมี Passion ตลอดเวลา อาจเรียกว่าคลุ้มคลั่งเลยก็ได้ ต้อง Passion เท่านั้นเพราะว่าโลกแข่งขันกันขนาดนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คือ ผมรักในสิ่งที่ผมทำ ผมวางทุกอย่างให้ชัด แล้วพาลูกทีมเดินไปด้วย เพราะผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าเราทำงานคนเดียวไม่ได้”

ในมุมมองของ “พิพิธ เอนกนิธิ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารกสิกรไทย Passion คือ สิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเป็นทั้งความสุขในงานที่ทำ และต้องประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งความปรารถนาอย่างแรงกล้านี่เองที่ยังนำพาให้ชีวิตพลิกผัน จากบทบาทของ “เซลส์แมนขายยา” ที่มีดีกรีสายตรงจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้ามห้วยสู่ตำแหน่งนายแบงก์ใหญ่ของกสิกรไทยในวันนี้

ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังเข้าสู่แวดวงธนาคาร พิพิธ เล่าว่า เมื่อเข้าทำงานที่โรงพยาบาลหลังเรียนจบก็รู้สึกได้เลยว่ายังไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับตัวเอง เพราะเป็นชีวิตที่ “มีความท้าทายน้อยเกินไป” จึงลาออกไปเป็นเซลส์ขายยา และเมื่อมองหาความท้าทายเป็นหลัก บริษัทที่ตั้งใจเลือกเข้าจึงต้องไม่ใช่บริษัทใหญ่สัญชาติอเมริกันที่มีสูตรสำเร็จเหมือนๆ กัน แต่เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่น

“ถ้าตามสูตรสำเร็จก็ต้องไปบริษัทใหญ่ๆ บริษัทอเมริกัน แต่ผมไม่ไป ผมจะไปที่ยากๆ เขาบอกว่าญี่ปุ่นนี่ยากมาก เพราะไม่มีตำรา ไม่มีการทำรีเสิร์ชแบบตะวันตก ถ้าเป็นสูตรสำเร็จผมไม่เอา ผมว่ามันง่ายเกินไป ผมไปที่มันยากๆ ที่มันขายไม่ได้ เลยเข้าไปบริษัทญี่ปุ่น ก็ยากจริงนะ ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก

ญี่ปุ่นเขาไม่ได้มีสูตรสำเร็จแบบฝรั่ง เราต้องดิ้นรนเอง ซึ่งตรงนี้ผมคิดไม่ผิด เพราะผมรู้ว่าอะไรที่มันไม่สมบูรณ์ ถ้าเราทำให้สมบูรณ์ได้ ที่สุดแล้วคุณค่าจะอยู่ที่เรา ท้ายที่สุดแล้วบริษัทต้องง้อเรา เพราะเราทำได้มากกว่าที่คนอื่นคิดมาให้เรียบร้อย นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการ ถามว่าทำไมถึงต้องชาเลนจ์ตัวเอง เพราะผมเชื่อว่าในความไม่สมบูรณ์นั้นมีโอกาสอยู่สูง และสุดท้ายก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ” พิพิธ กล่าวถึงเมื่อครั้งเป็นท็อปเซลส์แมน

แม้จะไม่เคยคิดเป็นนายแบงก์ แต่ก็ได้เดินเข้าสู่สายงานธนาคารในที่สุด เมื่อมองว่าการจะก้าวหน้าขึ้นอีกจากงานที่ทำอยู่จำเป็นต้องเรียนด้านกลยุทธ์การบริหารธุรกิจเพิ่มเติม จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองด้วยการสอบชิงทุนของธนาคารกสิกรไทย ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเอ็มบีเอ ที่ Pforzheim University และ Brighton University ก่อนจะกลับมาใช้ทุนและร่วมงานกับกสิกรไทยจนถึงวันนี้

จากในวันที่ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเมื่อทศวรรษก่อน พิพิธเผชิญความท้าทายสำคัญด้วยการดูแลสายงาน Multi Corporate Banking ราว 56 ปี ก่อนที่ความสนใจในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเริ่มต้นขึ้นในไทย และทำให้ต้องย้ายไปรับผิดชอบสายงานธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นชาเลนจ์ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนในวัย 30 ต้นๆ ที่ต้องรับผิดชอบพอร์ตใหญ่ขนาดเกือบ 2 แสนล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กับการโยกไปทำงานในฝ่าย รีเทล แบงก์กิ้ง ดูแลลูกค้าบุคคล ซึ่งสร้างผลงานกับการคว้ารางวัลที่ 1 ของวารสาร ดิ เอเชียน แบงก์เกอร์ มาแล้ว

ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนั้น พิพิธยกให้กับการรับบทกองหน้าพากสิกรไทยไปตะลุยแดนมังกร เมื่อปี 2551 เมื่อเสี่ยปั้น “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกสิกรไทย ลงมาจีบเองเพื่อให้ดูแลสายงานธุรกิจจีนอย่างเต็มตัว หลังจากที่กสิกรเริ่มเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในจีนเป็นครั้งแรก ที่สาขาเซินเจิ้น ในปี 2537 ขณะที่ปัจจุบัน สายงานธุรกิจจีนได้ควบรวมและเปลี่ยนชื่อเป็นสายงานธุรกิจข้ามประเทศแล้ว เพื่อรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และเพื่อให้กสิกรไทยก้าวเข้าสู่การเป็น Asian Bank อย่างแท้จริง

ทว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่พิพิธจะเดินหน้าพุ่งชนความท้าทายแบบถึงที่สุด เพราะในครั้งนั้น เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ “ท้าทายมากเกินไป” เพราะเป็นงานที่พ้นขอบเขตของประเทศ ภาษา และวัฒนธรรม ที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เปรียบเสมือนคนตัวเล็กในมหาสมุทรที่มองอะไรไม่เห็น จึงปฏิเสธไป

แต่ที่สุดแล้ว เจ้าตัวก็ยอมรับบทบาทใหม่ในท้ายที่สุด และเป็น 1 ใน 10 ผู้บริหารเลือดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการโดยดูแลฝ่ายบริหารและพัฒนาธุรกิจสำนักงานต่างประเทศ ในปี 2552

“สุดท้ายก็คือตัดสินใจมาทำจีน จริงๆ ก่อนไปก็ตัดสินใจยากมาก ผมบอกกับคุณปั้นว่าไม่ไปอยู่ถาวรนะครับ บอกชัดเจนเลย ไปเรียนภาษาที่โน่นก่อนอยู่หลายเดือน ช่วงแรกเป็นช่วงที่ยากมาก แล้วก็ไม่มีใครยอมไปกับผมเลย เพราะทุกคนจะติดภาพเมืองจีนที่ลำบาก อะไรๆ ก็ไม่พร้อม แถมมีเรื่องเล่าของคนชุดแรกๆ ที่ไปว่าถูกหลอกถูกโกงที่โน่น ขับรถพาไปคนละที่แล้วเรียกเงินเพิ่ม 500 หยวน อะไรทำนองนี้ เรียกว่าหวาดระแวงกันมาก” พิพิธย้อนถึงประสบการณ์ในจีนช่วงแรก

สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การดีลกับคนที่ต่างทั้งภาษา ความคิดอ่าน และวัฒนธรรม การไปเรียนภาษาที่จีนจึงไม่ใช่เพื่อเรียนแกรมม่า พิพิธ เล่าว่า ไม่ได้เรียนแค่ภาษา แต่เรียนเพื่อให้รู้ว่าข้างหลังของภาษาคืออะไร เพราะภาษาเป็นตัวสะท้อนของวัฒนธรรมและความคิด

นอกจากนี้ การจะเอาชนะใจทีมและคนที่จีนยังต้องร่วมทำกิจกรรม ร่วมสนุกไปกับเขาด้วย เช่น ไปร้องเพลงคาราโอเกะเป็นภาษาจีน ทั้งที่ตอนอยู่เมืองไทยไม่มีลูกน้องคนไหนได้เห็น ที่ทำไปไม่ใช่เพราะอยากเอาใจใคร แต่เพื่อให้รู้จักอีกฝ่ายอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับการดีลกับคนของตัวเอง ที่งานนี้ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติหลายอย่างให้ลูกน้องได้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว และกสิกรฯ ก็ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายอย่างนับตั้งแต่เปิดสาขาผู้แทนครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ตั้งแต่เรื่องกฎหมายไปจนถึงคน ยังทำให้ต้องเข้าไปวางระบบใหม่หลายอย่าง โดยเฉพาะการทำหลักสูตรใหม่ ที่ถือเป็นต้นแบบซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในจังหวะของการเปิดประชาคมเอเอซี ในปี 2558 กับหลายประเทศในอาเซียนได้ ตั้งแต่ พม่า ลาว ไปจนถึงอินโดนีเซีย

พิพิธ เสนอทำหลักสูตรคู่มือใหม่เป็นภาษาจีน ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยสามารถนำเนื้อหาไปประยุกต์ใช้ได้ ทั้งแพลตฟอร์มในการทำสาขา คอร์แบงก์กิ้ง และโอเปอร์เรชั่น ทุกอย่างสามารถนำมาปรับได้หมดจากคู่มือเล่มเดียวในจีนที่มีนับพันหน้า แม้แต่การสมัครยื่นขอใบอนุญาตจากทางการ จึงสามารถบุกในอินโดจีนได้อย่างรวดเร็วทันทีหากทางการเปิดประตูให้ เรียกว่าเข้าไปเปลี่ยนระบบคอร์แบงก์กิ้งใหม่หมดในจีนเพียงครั้งเดียว เพื่อรองรับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั่วภูมิภาค

ทว่าสำหรับอนาคตก้าวต่อไปของนายแบงก์รายนี้ ผู้มองเห็นและสร้างโอกาสในความไม่สมบูรณ์ได้เสมอ พิพิธขอให้เวลา และ Passion ที่ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม เป็นเครื่องตัดสินต่อไป

“ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว เราต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง จริงๆ ถ้ายังมีความมั่นใจอยู่ ถ้าเราเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ก็น่าจะช่วยทำให้คนเก่งขึ้นได้ คิดอยู่เหมือนกัน แต่ของพวกนี้อยู่ที่เวลาและถ้ายังรู้สึกสนุกอยู่ ซึ่งก็ย้อนกลับไปสมการเดิมที่ว่า ต้องประสบความสำเร็จ และมีความสุขกับงานที่ทำ นี่ล่ะที่เป็น Passion ของเรา มีคนถามว่าจะเสพติดหรือเปล่า ผมบอกว่าไม่รู้ รู้แต่ว่าผมมีความสุขก็พอ” พิพิธ ทิ้งท้าย