posttoday

เอสเอ็มอี กวาดงานรัฐ 6 เดือนแรก 6.8 หมื่นลบ.

07 กันยายน 2564

ส.อ.ท.ควงเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตโควิด ดันสินค้า Made in Thailand ขายหน่วยงานรัฐ คาดสิ้นปีแตะ 1 แสนล้านบาท เตรียมจับมือสสว.ต่อยอดเจาะตลาดต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการออกมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบาก  

ทางส.อ.ท.ได้จัดทำ โครงการ Made in Thailand  โดยร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT ได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐมีมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 52  สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตามคาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ โดยที่ผ่านมามีสินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. อุปกรณ์งานก่อสร้าง อันดับ 2.ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 3 เครื่องปรับอากาศ อันดับ 4 สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอันดับ 5.สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

เอสเอ็มอี กวาดงานรัฐ 6 เดือนแรก 6.8 หมื่นลบ.

“โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการ อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณแทนผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ถือว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเดินต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

นางพิมพ์ใจ  ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน Made in Thailand โดยกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท ได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand เพิ่มเติมด้วย และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก

เอสเอ็มอี กวาดงานรัฐ 6 เดือนแรก 6.8 หมื่นลบ.

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่มเอสเอ็มอีเจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่นๆ

เอสเอ็มอี กวาดงานรัฐ 6 เดือนแรก 6.8 หมื่นลบ.