posttoday

ไทยเปิดฉากถกสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค 2022 ยกระดับเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก

12 พฤษภาคม 2565

ไทยเจ้าภาพ ABAC 2022 ชูแนวคิด Embrace Engage Enable ยื่น 8 ข้อเสนอ วงรัฐมนตรีการค้าเอเปค 21-22 พ.ค.นี้ ต่อยอดโอกาสผนึกกำลัดันเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022  เปิดเผยว่า ผู้นำภาคเอกชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ได้เปิดตัวการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตอกย้ำความยึดมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาค และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ดิจิทัล MSMEs ความยั่งยืน และเศรษฐกิจการเงิน เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของภูมิภาค

ทั้งนี้ APEC Business Advisory Council (ABAC) ประกอบด้วยสมาชิกหลักจำนวน 63 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (3 คนต่อหนึ่งเขตเศรษฐกิจ จาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก) โดยในทุกปี สมาชิกของ APEC Business Advisory Council จะรวมตัว ณ การประชุมของสภาฯ จำนวน 4 ครั้ง และงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือ และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

สำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ผลักดันการจัดงานด้วยแนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE พร้อมเปิดรับโอกาสการกลับมาร่วมประชุมของผู้นำภาคเอกชนในสถานที่จริง (Onsite) เป็นปีแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตามสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชน ผู้ที่ทำให้ธุรกิจของเราต่างดำเนินอยู่ได้ในวันนี้ ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อาทิ เหตุโรคระบาด และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ได้สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของผู้คน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ร่วมมือระหว่างสมาชิกของ APEC Business Advisory Council จึงมีความสำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำที่สะท้อนความต้องการของผู้คนในภูมิภาคอย่างแท้จริง และนำยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2022

การประชุม APEC Business Advisory Council 2022 นั้นได้ผ่านวาระการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-28 เมษายน ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยการประชุมครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 26-29 กรกฎาคม ณ ประเทศเวียดนาม ส่วนการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้น ณ? วันที่ 13-16 พฤศจิกายน ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน อีกด้วย

ด้านดร.?พจน์? อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทยกล่าวว่า ไทยเคยเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit เมื่อปี 2003 และในปีนี้ APEC CEO Summit 2022 จะมีขึ้นอีกครั้งที่ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “EMBRACE ENGAGE ENABLE” โดยจะเป็นการจัดงานแบบ onsite เป็นครั้งแรก หลังจากที่มีระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับผู้นำด้านธุรกิจ วิทยากรชั้นนำของโลก และซีอีโอกว่า 1,500 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โปรแกรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2022 จะประกอบด้วยการอภิปราย การนำเสนอ และการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม

นอกจานี้สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ได้หารือความคืบหน้าในประเด็นสำคัญต่างๆ ครั้งล่าสุด ครั้งที่ 2 ที่ประเทศแคนาดา โดยตัวแทนภาคเอกชนได้เตรียมคำแนะนำ 8 ประการ เพื่อยื่นเสนอต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2022 นี้ ประกอบด้วย1. การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต 2. การตระหนักถึงการวางแนวทางเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP

3. สนับสนุนองค์การการค้าโลก และระบบการค้าแบบพหุภาคี 4. การสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าบริการ 5. การเปิดด่านชายแดนอีกครั้งด้วยการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น และข้อเสนอแนะเพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หยุดนิ่ง และครอบคลุม 6.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผ่านมาตรการทางการค้าและเศรษฐกิจ 7. การพัฒนาธรรมาภิบาลด้านดิจิทัลให้สูงขึ้น และ8. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ โดยคำแนะนำที่มีความเร่งด่วนสูงสุดมี 3 ประการ คือ ด้านความมั่นคงด้านอาหาร ด้านดิจิทัล และด้านการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)