posttoday

กลุ่มเซ็นทรัล เผยธุรกิจโรงแรม-อาหาร กลับมาฟื้นพลิกกำไรในไตรมาสสุดท้ายปี64

01 มีนาคม 2565

กลุ่มเซ็นทรัล เผยผลดำเนินการไตรมาส 4 ปี 2564 กลับมาฟื้นทั้งธุรกิจโรงแรมและอาหาร มีกำไร 152 ล้านบาท ท่ามกลางระบาดโควิด-19

รายงานข่าวจาก บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารธุรกิจโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ และธุรกิจอาหารจานด่วน ในประเทศ เผยผลดำเนินการธุรกิจในไตรมาส 4/2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 3,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 497 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 15%) รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

บริษัทฯ มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 519 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 113%) เทียบปีก่อน การปรับตัวดีขึ้นของอัตราการทำกำไร สืบเนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร กอปรกับการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะมัลดีฟส์ที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 330 ล้านบาท หรือ 185% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ ในปี 2565 แม้ธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ผลกระทบที่ได้รับคาดว่าจะรุนแรงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการได้รับวัคซีน, การปรับตัวตามวิถีชีวิตใหม่ และมาตรการของรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นในลักษณะค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในการเดินทางระหว่างประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้บริษัทคาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี (รวมกิจการร่วมค้า) อยู่ในช่วง 40% - 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700 – 1,900 บาท โดยโรงแรมต่างประเทศทั้งมัลดีฟส์และดูไบที่คาดว่ายังคงดีอย่างต่อเนื่องรวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยจะเป็นปัจจัยในการฟื้นตัว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังเป็นสำคัญ สำหรับธุรกิจอาหาร บริษัทฯ คาดว่าในปี 2565 อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 10% ถึง 15% และ 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ตามลำดับ สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 180-200 สาขา โดยปี 2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 11,635 ล้านบาท ลดลง 1,614 ล้านบาท (หรือลดลง 12%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 2,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 1%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 17% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ปี 2563: 15%)

บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 1,779 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 228 ล้านบาท เทียบปีก่อน (หรือ 15%) ทั้งนี้ หากรวมรายการพิเศษกลับรายการ (สำรอง) ด้อยค่าของสินทรัพย์ บริษัทฯ จะมีผลขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 1,042 ล้านบาท เทียบปีก่อน (หรือ 38%)

ขณะที่บริษัทฯ มีอัตราส่วนสภาพคล่องที่ 0.6 เท่าคงที่จากปี 2563 มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้นลดลงเป็น 1.3 เท่า ดีขึ้นจากสิ้นปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของส่วนผู้ถือหุ้นเนื่องจากการตีราคาที่ดินเป็นสำคัญ และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.9 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขกับสถาบันการเงินที่ 2.0 เท่า

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 85 โรงแรม (17,448 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 46 โรงแรม (9,410 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 39 โรงแรม (8,038 ห้อง) ในส่วน 46 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 19 โรงแรม (5,050 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 27 โรงแรม (4,360 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร

สำหรับธุรกิจอาหาร CENTEL มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดดำเนินการรวม 1,389 สาขา ดังนี้ 1.เคเอฟซี (303) 2.มิสเตอร์โดนัท (424) 3.โอโตยะ (46) 4.อานตี้แอนส์ (197) 5.เปปเปอร์ลันช์ (48) 6.ชาบูตง ราเมน (16) 7.โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ (16) 8.โยชิโนยะ (27) 9.เดอะ เทอเรส (14) 10.เทนยะ (14) 11.คัตสึยะ (49) 12.อร่อยดี (37) 13.อาริกาโตะ (110) 14.เกาลูน (8) 15.แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (32) 16. สลัดแฟคทอรี (18) 17. บราวน์ คาเฟ่ (14) 18. คาเฟ่ อเมซอน – เวียดนาม (9) 19. ส้มตำนัว (7)