posttoday

ปีขาล : เสือทองหรือเสือดุ....จะเอื้อหรือท้าทายการฟื้นตัวเศรษฐกิจปี 2565

03 มกราคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สวัสดีปีใหม่พุทธศักราช 2565 มายังผู้อ่านทุกท่านทุกคนครับ....บทความนี้ออกมาในช่วงวันสุดท้ายของวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่คงอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหรือกลับจากไปเที่ยววันหยุด “Long Holiday”คงได้อัดฉีดเติมเชื้อเพลิงแห่งความสุขและเติมพลังให้กับชีวิตเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะผ่านช่วงต่ำสุดไปแล้วแต่บางธุรกิจอาจต้องเหนื่อยกว่าเดิม พุทธศักราชใหม่เลขสองตัวสุดท้าย “65” ทางโหราศาสตร์ถือเป็นเลขดีเป็นเลขมงคลสอดรับกับปีขาลบางตำราว่าเป็นปีของเสือทอง เรื่องเงินทองจะกลับมาดีแต่ต้องใช้ปัญญาและลงมือทำไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ผู้เขียนไม่ใช่หมอดูไปลอกเขามาให้ขำๆ อย่าไปจริงจัง

ช่วงสองปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่เผชิญกับความทุกข์ยากหากธุรกิจเอกชนที่ยังไม่เจ๊งหรือสามารถเจรจากับแบงค์ปรับโครงสร้างหนี้ทนอึดมาจนถึงวันนี้คงต้องสู้ต่อไป สำหรับมนุษย์เงินเดือนหากยังไม่กลายเป็นผู้ตกงานหรือเสมือนว่างงานซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.7 ล้านคน สอดคล้องกับดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมของ สศอ. เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำขยายตัวเพียงร้อยละ 1.11  สำหรับคุณๆ ท่านๆ โชคดีขอให้ตั้งใจทำงานอย่าไปขวางหูขวางตานายจ้าง ทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนจะได้ไม่ต้องไปหางานใหม่

อย่างที่กล่าวปีนี้เป็นทั้งเสือทองและเสือดุมีความท้าทายค่อนข้างสูงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่คาดว่าอาจขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.0 ค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.72 จากปีที่แล้วอาจขยายตัวได้ร้อยละ 0.9-1.0 ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ประการที่ 1 ความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ “Omicron” กำลังระบาดหนักไปทั่วโลกจำนวน 120 ประเทศมีคนป่วยเฉียดสามแสนคนแต่คนเสียชีวิตยังไม่ถึงร้อย ประเทศไทยหลังเที่ยวปีใหม่อาจทะลุเป็นหลักพันคนกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่คงต้องวัดดวงไม่ต้องถึงขั้นล็อกดาวน์ ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดรอบใหม่ ประกาศเตือนภัยที่มี 5 ระดับยกขึ้นมาเป็นระดับ 3 (สีส้ม) แนะนำให้ทุกหน่วยราชการควร “Work From Home” ให้ได้มากสุด มีการเตรียมงบ 31,662 ล้านบาทเพื่อรับมือ

ประการที่ 2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนคาดว่าอาจขยายตัวได้ร้อยละ 5 แต่การระบาดของโอมิครอนทำให้หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ ใช้มาตรการปิดประเทศ ร้านค้าจำกัดเวลาขาย ปิดผับใช้กฎหมายบังคับสวมหน้ากากอาจกระทบภาคส่งออก ประเทศสหรัฐอเมริกาแทบฟอริด้าและลองบีชมีเรือสำราญที่ผู้โดยสารติดเชื้อลอยลำกว่า 60 ลำไม่ให้เทียบท่า  

ประการที่ 3 ผลกระทบคือนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ยังคงไม่กลับมามีการปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 10 ล้านคน รายได้ 6.3 แสนล้านบาทแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุอาจไม่เกิน 6 ล้านคน ขณะที่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2564) ต่างชาติอาจมาเที่ยวไม่เกิน 4.0 แสนคนจากก่อนโควิดจำนวน 40 ล้านคน รายได้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาทเทียบก่อนวิกฤตโควิดมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2.1 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องไปลุ้นในปีพ.ศ.2566

ประการที่ 4 ความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญคือความไม่แน่นอนของราคาพลังงานซึ่งมีความผันผวนสูงราคาขึ้นลงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ช่วงก่อนปิดปีใหม่ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์ก (WTI) อยู่ที่ 76.8 USD/Barrel ส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั้มพลอยส่งตามขึ้นไปด้วย สำหรับราคาน้ำมันดีเซล B7 รัฐบาลตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร ราคา ณ สิ้นปีอยู่ที่ระดับ 28.44 บาท/ลิตรทำให้องค์กรที่เกี่ยวกับรถบรรทุกออกมาขู่ที่จะหยุดเดินรถแต่จะทำได้จริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประการที่ 5 ความผันผวนของระบบนิเวศน์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (Forex Ecosystem) ทำให้เงินบาทอยู่ในโซนอ่อนค่าประมาณ 33.42 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เอื้อต่อภาคส่งออกซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3-4 จากปีที่แล้วขยายตัวได้ร้อยละ 16.4 แต่จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีการนำเข้ารวมถึงราคาน้ำมันดิบคงจะทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั้มมีความผันผวนกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย

ประการที่ 6 ปีเสือดุด้านการเมืองที่มีผลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ปัจจัยภายนอกจะเห็นการเพิ่มดีกรีสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างคู่กัดประธานาธิบดีโจไบเดน (สหรัฐฯ) กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (จีน) โดยเฉพาะประเด็นพิพาททะเลจีนใต้จนมีข้อตกลง “AUKUS” พันธมิตรร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ-ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรที่จีนไม่พอใจมาก เกี่ยวข้องกับความสามารถของไทยในการดุลอำนาจเพราะต่างเป็นคู่ค้าหลักส่งออกของไทย

ประการที่ 7 เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเมือง ในรัฐสภาดูวุ่นวายย้ายพรรคเปลี่ยนพรรคเหมือนกับจะมีเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ขณะที่การเมืองในพรรครัฐบาลที่ “3ป.” ติดกับดักตัวเองหลังจากครองอำนาจต่อเนื่อง 8 ปีจะอยู่ต่อ แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อจากศรัทธาประชาชนที่เคย     มีลดหายไปมาก ภายในพรรค “พปชร.” ขาดเอกภาพ “เหรียญหลวงพ่อป้อม” ดูจะไม่ขลัง หลายขั้วอำนาจต่างมีสงครามเย็นระหว่างกันสภาพเช่นนี้มีผลต่อการเชื่อมั่นด้านลงทุนและฟื้นตัวเศรษฐกิจรวมถึงตลาดแรงงาน

ประการสุดท้าย สภาพคล่องธุรกิจและครัวเรือนซึ่งปัจจุบันคนจนมากขึ้นจนรัฐบาลต้องปรับเกณฑ์นิยามคนจนเพื่อให้จำนวนลดลง อีกทั้งประชาชนและธุรกิจมีหนี้สูงขึ้นแค่ 1 ปีที่ผ่านมาหนี้เพิ่มขึ้น 6.843 แสนล้านบาทหรือสูงขึ้นถึงร้อยละ 5  หนี้เสียในภาคธุรกิจสูงแต่ NPL ของสถาบันการเงินอยู่ที่ระดับต่ำร้อยละ 3.14  ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ มีการปรับโครงสร้างหนี้เป็นโจทย์ใหญ่ให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้า คาดว่าช่วงสิ้นปีที่แล้วแบงค์ต่างๆ มีการปรับโครงหนี้เป็นเงิน 1.0 ล้านล้านบาทจากสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ 12.5 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 8  นอกจากนี้เศรษฐกิจปีที่ผ่านมายังมีความอ่อนแอเห็นได้จากเดือนพฤศจิกายนยอดจำนวนรถยนต์นั่งหดตัวลดร้อยละ 1.7, รถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ 10.8, การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวจากช่วงเดียวกันจากปีที่แล้วร้อยละ -7.81 

ลองมาดูปัจจัยเชิงบวกซึ่งบางตำราบอกว่าเป็นปีเสือทอง วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ “RCEPT” มีสมาชิก 15 ประเทศเป็นเขตเศรษฐกิจเสรี “ภาษีศูนย์” ที่ใหญ่สุดของโลกมีผู้บริโภคประมาณ 2,300 ล้านคนคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลกโดยกว่าครึ่งเป็นประชากรของจีน มีมูลค่าการค้า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสัดส่วนร้อยละ 30.3 ของการค้าโลกรวมกัน ประเด็นคือประเทศไทยจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญที่แสดงถึงการฟื้นตัวในทางบวก เช่น ดัชนีกำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.81, ค่าเฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.5 แต่ยังอยู่ในโซนที่ต่ำแสดงให้เห็นซัพพลายภาคอุตสาหกรรมยังเหลือค่อนข้างมากส่งผลต่อการจ้างงานที่ยังไม่กลับมา

การเข้าสู่ปีพ.ศ.2565 เป็นทั้งปี “เสือทอง” ที่เอื้อต่อธุรกิจที่สามารถไปต่อภายใต้วิกฤตจากโควิดอย่างน้อยจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงกลางปี อีกทั้งความสามารถในการรับมือและการแข่งขันภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลขณะเดียวกันยังเป็นปี “เสือดุ” ของธุรกิจและมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในซีกที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ประเมินว่าจะมีรายได้ (รวม) 1.12 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 36 ของรายได้ท่องเที่ยวก่อนมีวิกฤตโควิดมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยหรือของประชาชนที่รัฐบาลหวังที่จะให้ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากปีที่แล้วขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.4  

การเห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและ/หรือบางภาคส่วนไม่เจ๊งที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานซึ่งยังมีความอ่อนแอ รัฐบาลคงต้องเตรียมแพ็คเก็จเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้มีเงินเพียงพอในการพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงานอาจต้องทำต่อเนื่องไปถึงปลายไตรมาส 2 แต่การที่จะให้ขนาดเศรษฐกิจมีมูลค่าใกล้เคียงก่อนเกิดวิกฤตโควิด อาจต้องเป็นครึ่งปีแรกของปีหน้า (พ.ศ.2566)  ผู้ประกอบการธุรกิจที่ติดกลุ่มฟื้นตัวช้าคงต้องใช้คาถา “ทน-สู้-อึด” หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่อยู่เชคเตอร์เหล่านี้คงต้องท่องคาถาเมตตามหานิยมไม่ให้ถูกออกจากงาน ตำราโหราศาสตร์บอกว่าผู้ที่เกิดปีกุน, ปีขาล, ปีมะเส็งและปีวอกซึ่งเป็นปีชงต้องไปทำบุญสะเดาะห์เคราะห์เชื่อที่ไหนก็ไปที่นั่น ปีใหม่นี้ขอให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้มีความสุขทั้งสุขกาย-สุขใจใครค้าขายขอให้เฮงๆ ใครซื้อหวยขอให้โชคดีเป็นเศรษฐีทุกคน...นะจ๊ะ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat