posttoday

ธปท.ชี้คนไทยเร่งปรับตัวรับเทรนด์โลกดิจิทัล-ESG ฝ่าวิกฤตโควิด

27 กันยายน 2564

ผู้ว่าธปท.เชื่อมั่นอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้เร็ว แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัวรับกระแสโลกใหม่ ชี้ระบบการเงินมีเสถียรภาพไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ   ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)   กล่าวบรรยายพิเศษในงานประชุมประจำปี สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรื่อง มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ว่า สภาอุตสาหกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญได้อย่างทุกวันนี้ ถ้าย้อนกลับไปช่วงยุคทองของเศรษฐกิจไทย ช่วง 15 ปีก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตในช่วงนั้น ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงมาเฉลี่ยไม่ถึง 3% ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตที่ 2% และสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเหลือไม่ถึง 25% ซึ่งสะท้อนว่ายุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นยุคที่ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลขจีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลขจีดีพียังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า มีกระแสใหม่ 2 เรื่องที่มาแรงและเร็ว ทุกคนต้องเตรียมรับมือ คือ 1.เรื่องดิจิทัล ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ การใช้ digital footprint ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งการเตรียมความพร้อมในการรองรับกระแสดิจิทัลนี้ เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน  

2.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ถ้าเราไม่ปรับตัว เช่น สินค้าส่งออกยังมี carbon footprint มาก

อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วน ต้องปรับตัวปรับรูปแบบ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกระแสดังกล่าว ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ที่สำคัญ เราจะต้องออกจากวิกฤตนี้ด้วยแผลเป็นที่น้อยที่สุด เพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการปรับตัวรองรับกระแสโลกใหม่ได้ดีขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจ ปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนสูง การวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการหรือการลงทุนใหม่ จะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น

ด้านประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้

สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้แล้ว ต้องปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ ๆ และต้องจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับกระแสของอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ green และ ESG มากขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ  กล่าวว่า ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์และทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1. การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน

2. ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ และ 3. ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ที่ยังเป็น pain point สำคัญของระบบการเงินไทย

นอกจากนี้ภาครัฐเอง ต้องปรับตัวไปสู่การเป็น facilitator โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน

“เราเคยผ่านวิกฤตที่หนักหน่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติปี 2540 วิกฤติการเงินโลกปี 2551 วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 และมาถึงวิกฤตรอบนี้ หนักกว่ารอบก่อนๆ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะผ่านพ้นไปได้อีกครั้ง เพราะมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวได้เร็ว ทุกคนต้องเข้าใจในบทบาทและข้อจำกัดของกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิด “เส้นแบ่ง” ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ลูกจ้างหรือนายจ้าง รายเล็กหรือรายใหญ่ การหันหน้าเข้าหากัน การประนีประนอมกันมากขึ้น และมองให้รอบด้าน จะทำให้เราเห็นทางออกในการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อีกครั้ง”