posttoday

ปตท.ตั้งรง.ผลิตรถ EV ในไทย เฟสแรกปีละ 5 หมื่นคัน

14 กันยายน 2564

ปตท. ร่วมทุน ฟ็อกซ์คอนน์ สร้างโรงงานผลิตรถ EV ในพื้นที่ อีอีซี ลงทุน 3.2 -6.4 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน หนุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานใน พิธีลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์  (Foxconn) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual JVA Signing Ceremony) จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และ กรุงไทเป ไต้หวัน

ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของฟ็อกซ์คอนน์ ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าผสานกับองค์ความรู้   การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของ กลุ่ม  ปตท. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่  ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. โดย บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV Value Chain ทั้งหมด โดยอาศัยความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานของ ปตท. และ กลุ่มบริษัทในเครือ ซึ่งภายหลังการลงนามจะตั้งบริษัทร่วมทุน จะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในประเทศไทย  ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิต EV

ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform  Drivetrain หรือ Motor โดยแผนลงทุนในช่วง 5 – 6 ปี จะเริ่มจากการสร้างโรงงานใหม่ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1 – 2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.2–6.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับโรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิต EV ทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของ ฟ็อกซ์คอนน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีทั้ง Hardware และ Software ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถ EV ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด EV และพลิกโฉมภาคการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปี ในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน/ปี และขยายเป็น 150,000 คัน/ปี ในอนาคต

“การร่วมทุนในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ เสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับประชาชน หากประสบผลสำเร็จในระยะแรกจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจสู่เวทีโลกในอนาคตแล้ว ยังเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” นายอรรถพล กล่าว

นาย ยัง ลวือ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟ็อกซ์คอนน์  กล่าวว่า การรังสรรค์นวัตกรรมเป็นค่านิยมหลักที่ฟ็อกซ์คอนน์ยึดถือเสมอมา เช่นเดียวกันกับ ปตท. ที่ขับเคลื่อนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สะท้อนถึงการมีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งช่วยให้ ปตท. เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญของ ฟ็อกซ์คอนน์

อย่างไรก็ตามตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนที่เริ่มมีการปรับตัวและเติบโตแบบก้าวกระโดด การผนึกความร่วมมือกับ ปตท. ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะสามารถนำเอาประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของทั้งสององค์กร มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง  และการร่วมทุนในครั้งนี้ยังเป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตให้สมบูรณ์และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมนำพาประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ได้ต่อไป