posttoday

‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ เล็งตั้งรง.พลาสติกชีวภาพ

14 กันยายน 2564

เอสซีจี ดึง Braskem จากบราซิล ขับเคลื่อนพลาสติกชีวภาพในไทย ศึกษาร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน ตอบโจทย์เทรนด์โลก

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์   เปิดเผยว่า เอสซีจีฯได้ร่วมกับ Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิลลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย เพื่อผลิตไบโอ-เอทิลีน (bio-based ethylene) ซึ่งจะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกประเภทไบโอ-พอลิเอทิลีน (bio-based polyethylene) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกชีวภาพในเอเชียและตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้บริโภคสายกรีนอีกด้วย

ทั้งนี้เอสซีจี เคมิคอลส์ มีแนวทางที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การเร่งขยายเข้าสู่ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดภาวะโลกร้อน พร้อมตอบโจทย์ลูกค้า เจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามหากการศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวดำเนินไปด้วยดีและบรรลุข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย การดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาติกชีวภาพจะเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้จะผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพของ Braskem เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตพลาสติกพอลิเอทิลีน และความเป็นเลิศด้านการตลาดของเอสซีจี เคมิคอลส์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้างต่อไป

นายโรเจอร์ มาร์คิโอนี Braskem’s Director for Asia กล่าวว่า เทรนด์โลกมีความต้องการโซลูชันที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น Braskem จึงมองหาโอกาสที่จะนำเสนอพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ I’m GreenTM ซึ่งเป็นไบโอ-พอลิเอทิลีน เพื่อช่วยดูแลโลก ควบคู่กับการตอบความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เรายังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งการร่วมมือกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของเราในเอเชีย ซึ่งทั้งสององค์กรต่างมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกัน โดยจะร่วมกันศึกษา แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ รวมทั้งจะช่วยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น