posttoday

ส.อ.ท. ผนึก 3 แบงก์ใหญ่ อัดสภาพคล่องเอสเอ็มอี 4 หมื่นล้าน

08 กันยายน 2564

ส.อ.ท.จัดสินเชื่อซัพพลายเชน 4 หมื่นล้าน ใช้ Invoice ซื้อขายสินค้า เป็นหลักทรัพย์ เชื่อช่วยพยุงเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตโควิด ได้กว่า 1 หมื่นราย

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ -จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมวงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของ Supply Chain Financing   คาดจะสามารถช่วยผู้ประกอบการ ได้มากกว่า 10,000 ราย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยพยายามหาหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สมาชิกรวมไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเครือข่ายเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

สำหรับรูปแบบสินเชื่อ Supply Chain Factoring จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. เป็นธุรกิจที่มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง และธุรกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดี แม้อยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งการส่งออกและตลาดในประเทศ

ทั้งนี้มีกลุ่มบริษัทนำร่อง ได้แก่ บริษัทในกลุ่มสิทธิผล, บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย), บมจ. อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย), กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี., บจก. เอส.พี.เอส. โคออพเพอเรท, บมจ. พลังงานบริสุทธิ์, บจก. นิภาเทคโนโลยี, บมจ. ปัญจวัฒนาพลาสติก, บจก. เศรษฐ์ อินเตอร์เทรด

รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจในกลุ่มยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, คลัสเตอร์ก่อสร้าง, กลุ่มสิ่งทอ, กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ส.อ.ท.จะรวมพลังสมาชิกเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้มากที่สุด เพื่อฝ่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI)  กล่าวว่าหัวใจสำคัญของ Supply Chain Financing  คือธุรกิจที่เป็น Sponsor หรือ Buyer ที่มีความน่าเชื่อถือและแข็งแกร่งทางธุรกิจอยู่แล้ว  โดยเอกสาร Invoice ที่เกิดจากการสั่งซื้อของ Sponsor แต่ละรายเป็นเครื่องการันตีแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันที่แต่ละธนาคารเชื่อถือได้

สำหรับรูปแบบการให้สินเชื่อของทั้ง 3 ธนาคารก็แตกต่างกันไป อย่างเช่น ธุรกิจที่ Sponsor หรือ Buyer มีการส่งออก ก็สามารถใช้บริการจาก Exim Bank ได้ หรือต้องการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยใช้แหล่งเงินทุนของ Sponsor เป็นหลัก ก็ใช้โปรแกรม Payzave ของ SCB หรือต้องการซื้อขาย Invoice ในรูปแบบปกติก็สามารถใช้โปรแกรมของทางกรุงศรีได้เลย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ตามที่เหมาะสมของแต่ละธุรกิจ