posttoday

ลุยช่วยผู้ประกอบการ 200 แห่ง หั่นต้นทุนโลจิสติกส์ 1.2 พันล้าน

08 กันยายน 2564

กสอ.ชี้พิษโควิดดันต้นทุนสินค้าพุ่ง เล็งดึงสถานประกอบการ 200 ราย จัดระเบียบโลจิสติกส์ หวังลดต้นทุนได้ 1,200 ล้านบาท

น.ส.ชลาริน นิลพิฤกษ์ ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนสินค้า การขนส่ง การสต็อกสินค้า และการบริหารจัดการ ทำให้มีสถานประกอบการหลายราย โดยเฉพาะสถานประกอบการเอสเอ็มอี เข้ามาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจกับกองโลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้กองโลจิสติกส์เตรียมเปิด “โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม” ปี 2565 ขึ้น มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการ 200 แห่ง เน้นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงาน-เคมีชีวภาพ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์  ทั้งผู้ประกอบการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการคลังสินค้า ที่ต้องการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการส่งเสริมความรู้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสู่ภูมิภาค   พร้อมประเมินศักยภาพด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และสามารถวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ได้ด้วยตนเอง  รวมถึงการจัดทำแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรายสาขาอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาและนำแผนไปปฏิบัติ ณ สถานประกอบการ  มีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของสถานประกอบการ โดยจะมีการแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศจากการเข้าร่วมกิจกรรมหรือจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสถานประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยคาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

ปัจจุบันการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยตั้งแต่ปี 2560 - 2564 กองโลจิสติกส์ได้มีการจัดโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 1,000 แห่ง มีผู้ประกอบการและบุคลากรร่วมอบรมในโครงการฯ กว่า 1,380 ราย สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เป็นมูลค่ากว่า 5,364 ล้านบาท